‘ณัฏฐพล’ ถก ศธจ.วาง 3 รูปแบบพัฒนาการศึกษาทั่วประเทศ หวังลดความเหลื่อมล้ำ

‘ณัฏฐพล’ ถก ศธจ.วาง 3 รูปแบบพัฒนาการศึกษาทั่วประเทศ หวังลดความเหลื่อมล้ำ

เมื่อวันที่ 18 มกราคม ที่หอประชุมคุรุสภา นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการมอบนโยบายการบูรณาการด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ให้กับผู้บริหารระดับสูงและศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ทั่วประเทศ ว่า จากที่ตนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ. มาเป็นเวลา 18 เดือน ได้เห็นรับทราบข้อมูลการศึกษา แนวทางพัฒนาการศึกษาในอดีตที่ผ่านมา และแนวทางการพัฒนาการศึกษาในอนาคต เราอย่าไปสนใจว่าในอดีตการศึกษาเป็นอย่างไร เราต้องสนใจว่าจะเตรียมเยาวชนในปัจจุบันให้มีความพร้อมสำหรับอนาคตได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม ทุกการเปลี่ยนแปลงจะเกี่ยวข้องกับงบประมาณ ที่ต้องไปดำเนินการ ซึ่งหลายคนบอกว่า ศธ.เป็นกระทรวงที่ได้งบจำนวนมาก แต่เมื่อตนได้ดูการใช้งบย้อนหลังไป 3 ปี พบว่าการใช้งบยังไม่สามารถบริหารจัดการงบประมาณได้ตรงจุด ไม่ตรงกับความต้องการในปัจจุบัน

นายณัฏฐพลกล่าวต่อว่า ธนาคารโลก ได้วิจัยออกมาว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทำให้การศึกษาเกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เราต้องนำเอาเทคโนโลยีมาเชื่อมโยงการจัดการศึกษาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน พร้อมกับลงทุนพัฒนาครู โดยการฝึกอบรมความรู้ทางด้านวิชาชีพ และรัฐจะต้องลงทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษา ต้น โดยมีแผนบรูณาการพัฒนาโรงเรียนมี 3 รูปแบบ คือ 1.เพิ่มคุณภาพให้โรงเรียนสแตนอโลน ในสังกัด สพฐ.ที่มีประมาณกว่า 1 พันแห่งให้มีคุณภาพ 2.ยกระดับคุณภาพโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง โดยพัฒนาโรงเรียนมัธยมให้มีคุณภาพเท่ากับโรงเรียนในตัวเมืองเพื่อกระจายนักเรียนลดความแออัดในโรงเรียน และ 3.สร้างโรงเรียนคุณภาพให้ชุมชน โดยการเลือกโรงเรียนและทุ่มงบพัฒนาเพื่อดึงดูนักเรียนโรงเรียนโดยรอบให้เข้ามาเรียน ซึ่งการสร้างโรงเรียนของชุมชนเป็นการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กไปในตัว โดยจะต้องพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพเพื่อดึงดูดนักเรียนเข้ามาเรียน ซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กได้กี่แห่ง เพราะต้องขึ้นอยู่กับการพัฒนาโรงเรียนแม่เหล็กในพื้นที่ด้วย

“วันนี้เป็นการรวมพลังของทุกหน่วยงานใน ศธ.เพื่อวางแผนร่วมกันขับเคลื่อนสร้างโรงเรียนที่มีคุณภาพในทุกจังหวัด เพื่อเป็นการยกระดับสร้างโอกาส และยกระดับรายได้ของจังหวัดผ่านการศึกษา เป็นเรื่องยาก แต่เราจะคำนึงความต้องการของจังหวัด ความต้องการของตลาด ความต้องการของประเทศ เพื่อวางแผนทรัพยากรมนุษย์ในอีก 5-10 ปีที่จะถึงนี้ ทั้งหมดคือการจัดสรรงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อจะวางแผนให้ผู้บริหารประเทศเห็นว่าถ้าต้องการยกระดับรายได้ของแต่ละจังหวัด ถ้าต้องการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ ต้องใช้งบประมาณและระยะเวลาเท่าใด ซึ่งผมจะนำเสนอแผนนี้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป” นายณัฏฐพลกล่าว

รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวต่อว่า เพื่อให้ผู้บริหารประเทศเห็นภาพการศึกษา โดยจะยก จ.ภูเก็ต เป็นตัวอย่าง ให้เห็นว่าในโรงเรียนที่แตกต่างกันควรจะจัดสรรงบประมาณแบบไหน เพื่อให้มีความพร้อม ศธ.มีความเป็นต้องวางแผนให้เห็นชัดเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หากทำทุกอย่างได้ตามแผนงาน คาดว่าเมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2565 จะเห็นโรงเรียนตัวอย่างในพื้นที่ จ.ภูเก็ต และในปี 2565 จะเริ่มทำในทุกๆ จังหวัด เป็นสิ่งที่จับต้องใด้ชัดเจนจากการขับเคลื่อนแผนนี้ ซึ่งจากการประชุมได้มอบหมายให้ตัวแทนจากทั้ง 77 จังหวัด ทำแผนพัฒนาในจังหวัดของตนเอง เพื่อนำเสนอแนวทางพัฒนารวมถึงการพิจารณาวางแผนงบประมาณที่ต่อเนื่องต่อไป

Advertisement

นายณัฏฐพลกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาการกระจายงบประมาณยังไม่มีประสิทธิภาพมากเพียงพอ เพราะเราคำนึงถึงทุกๆ โรงเรียน แต่ต่อไป ศธ.จะกลับมาวางเป้าหมาย วางพื้นที่เป้าหมายในการพัฒนาเพื่อตอบโจทย์คุณภาพการศึกษาของจังหวัดได้ โดยการวางแผนการศึกษาของแต่ละจังหวัดจะต้องเชื่อมต่อกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับอาชีวะศึกษาและระดับอุดมศึกษา ซึ่งโรงเรียนที่มีอยู่ในปัจจุบันเพียงพอต่อการพัฒนาแน่นอน แต่ต้องยอมรับว่าโรงเรียนบางแห่งอาจจะไม่ได้รับงบประมาณในอีก 2-3 ปีข้างหน้า แต่ผู้ปกครองจะเห็นโรงเรียนใกล้เคียงพัฒนามากขึ้นและมีความเหมาะสมในการส่งลูกไปเรียน ซึ่ง ศธ.จัดเตรียมรถรับส่งมารองรับไว้แล้ว คาดว่าในจังหวัดเล็กๆ จะใช้เวลาวางแผน 1 เดือน จังหวัดขนาดกลางใช้เวลาวางแผน 2 เดือน จังหวัดขนาดใหญ่จะใช้เวลาในการพัฒนาวางแผน 3 เดือน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image