‘ณัฏฐพล’ จี้ยกเครื่องฐานข้อมูลศธ.ทั้งระบบ

จี้ยกเครื่องฐานข้อมูลศธ.ทั้งระบบ ‘ครูตั้น’ย้ำบูรณาการทำบิ๊กดาต้า ผุด’สมุดพก’เช็กผลงานครู-นักเรียน

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ประชุมร่วมกับผู้บริหารศธ. โดยได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบนโยบายและจุดเน้นของศธ.รวมถึงความคืบหน้าในการดำเนินการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยทั้งการบริหารงานและการจัดการศึกษารองรับความเป็นรัฐบาลดิจิทัล ทั้งนี้ตนได้เน้นย้ำถึงการบริหารจัดการจัดเก็บข้อมูลที่เชื่อมโยงกัน ถือว่ามีความสำคัญเป็นกระดุมเม็ดแรกที่ใช้ในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ ซึ่งที่ผ่านมาสาเหตุที่ทำให้ได้รับการจัดสรรงบประมาณไม่อย่างเต็มที่อาจเพราะไม่มีความมั่นใจในข้อมูล จากที่ได้ไล่ดูข้อมูลในครั้งนี้ พบว่า องค์กรหลักของศธ. มีข้อมูลอยู่แล้ว แต่เนื่องจากการบริหารจัดการของเรามีรูปแบบเป็นแท่ง ๆ จึงอาจยังไม่มีการคำนึงถึงความต้องการของหน่วยงานอื่น ๆ ด้วย
“ที่ผ่านองค์กรหลักของศธ. ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) สำนักงานปลัดศธ. มาหารือร่วมกันเพื่อแจ้งให้ทราบว่า ข้อมูลใดที่มีความสำคัญ และสามารถใช้ข้อมูลใดร่วมกันได้บ้าง ทำเป็นฐานของมูล หรือบิ๊กดาต้าของศธ. โดยที่ไม่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลใหม่ ซึ่งฟังดูไม่ใช่เรื่องยาก แต่ในอดีตก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะยังไม่มีการสื่อสารถึงความต้องการอย่างเข้มข้น จึงต้องมาลงรายละเอียด คิดว่า น่าจะทำให้การบริหารจัดการเรื่องการจัดเก็บข้อมูลมีความเชื่อมโยงและเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจได้ดีขึ้น “นายณัฏฐพล กล่าว
นายณัฏฐพล กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ได้ขอให้แต่ละหน่วยงานเร่งดำเนินการโดยเฉพาะ ฐานข้อมูลครูและนักเรียนซึ่งเป็นส่วนคัญเหมือนสมุดพกส่วนบุคคล ที่หมายถึงความคืบหน้าแต่ละชั้นเรียนที่ต้องติดตัวนักเรียนไปตลอด ให้เห็นพัฒนาการและทักษะของนักเรียนแต่ละคน เพื่อให้โรงเรียนแต่ละแห่งสามารถจัดการศึกษาได้ตอบโจทย์ความถนัดของนักเรียนอย่างแท้จริง ไม่ใช่ถูกบังคับด้วยค่านิยมให้ต้องมาเรียนทางใดทางหนึ่ง ขณะที่ครูเอง ก็จะตอบโจทย์ความก้าวหน้าแต่ละขั้น ซึ่งสามารถนำมาอยู่ในสมุดพกได้ โดยที่ไม่ต้องทำวิทยฐานะเพิ่มเติม ถ้าหากผลงานตอบโจทย์ควาต้องการของโลก หรือความเปลี่ยนแปลงในเรื่องการพัฒนาตัวเอง นอกจากนี้ยังช่วยลดภาระงานของครูในการกรอกข้อมูลที่ซ้ำซ้อน ทั้งของหน่วยงานอื่นหรือหน่วยงานภายในศธ. ดังนั้นทุกหน่วยงานต้องบูรณาการข้อมูลร่วมกัน เพื่อช่วยเหลือการบริหารจัดการงบประมาณในอนาคต โดยคาดว่าภายในกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้จะมีความชัดเจน เพราะข้อมูลส่วนใหญ่ มีมากกว่า ร้อยละ90 แล้ว เหลือเพียงการบริหารจัดการบางส่วนที่อาจจะเป็นความต้องการของฝ่ายนโยบายซึ่งต้องเร่งปรับให้เป็นระบบมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image