ผลวิจัยทั่วโลกฟันธงโควิด-19 ทำการศึกษาถดถอย 50% ‘สมพงษ์’ แนะเพิ่มทักษะ

ผลวิจัยทั่วโลกฟันธงโควิด-19 ทำการศึกษาถดถอย 50% ‘สมพงษ์’ แนะเพิ่มทักษะ ‘ชีวิต-อาชีพ’ ให้ น.ร.

การศึกษา – ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา อดีตอาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้โรงเรียนประเมินนักเรียนในช่วงสอบปลายภาค และการสอบเลื่อนชั้นตามศักยภาพ โดยให้ออกแบบการประเมินเพื่อเลื่อนชั้นให้กับนักเรียน เพราะไม่สามารถประเมินในรูปแบบปกติได้ เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ที่ทำให้การศึกษาเกิดความเหลื่อมล้ำ ว่า ที่ ศธ.ออกนโยบายลักษณะนี้มา ถือเป็นนโยบายที่ยอมรับได้ แต่จากการศึกษา และวิจัยกว่า 10 ประเทศ และจากการที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ศึกษา และวิจัย มีข้อค้นพบที่คล้ายคลึงกัน คือเด็กที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาด และมีการปิดโรงเรียน คุณภาพการศึกษาจะด้อยลง และถดถอยลงประมาณ 30-50% โดยเฉพาะเรื่องการอ่าน วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์

“ไทยกำหนดให้นักเรียนเรียน 200 วันต่อภาคเรียน แต่ได้ปิดการเรียนการสอนจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งระลอกแรก และระลอกใหม่ รวมแล้ว 90 วัน นับเป็น 40% ของเวลาเรียนทั้งหมด นอกจากนี้ ไทยประสบปัญหาคุณภาพการศึกษาแย่อยู่แล้ว ผมมองว่าคุณภาพการศึกษาในปี 2563 ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกับคุณภาพในระยะยาว ถ้ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไม่สามารถจัดการ และลงมือแก้ไขให้ดีขึ้น” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ จากผลการศึกษาของหลายประเทศพบ 3 ประเด็น ที่จะช่วยส่งเสริมการศึกษาหลังสถานการณ์โควิด-19 มากขึ้น คือ 1.การศึกษาที่จัดจะยืดหยุ่นขึ้น มีอุปกรณ์เพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่เรียนเฉพาะออนไลน์ และใบงานเท่านั้น ดังนั้น ศธ.ต้องมองการจัดการศึกษาที่หลากหลาย และยืดหยุ่นมากขึ้น 2.ทุกประเทศจะพลิกฟื้นคุณภาพ เพราะรู้ว่าการศึกษาขณะนี้กำลังถดถอย และอ่อนลง จะต้องเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็กด้วยโครงการต่างๆ ซึ่งขณะนี้ยังไม่เห็นโครงการต่างๆ ที่จะช่วยพลิกฟื้นการศึกษาจาก ศธ.และ 3.การส่งเสริมความรู้ให้นักเรียนโดยใช้ทฤษฏีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง (Constructivism) เช่น อาจจะให้เด็กที่หยุดอยู่บ้านเรียนรู้กับพ่อแม่ในวิชาเกษตรกรรม และคหกรรม โดยไม่จำเป็นต้องใช้อินเตอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือ เพราะเด็กเรียนรู้โดยวิธีปฏิบัติ เรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ เรียนรู้จากการหาข้อมูลข่าวสาร ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้ข้ามพ้นความเหลื่อมล้ำของการศึกษาได้

“ผมอยากให้ ศธ.มองหาช่องทางที่จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ โดยอาจจะเน้นให้ครูสร้างการเรียนรู้ด้วยตนเอง และในภาวะวิกฤตเช่นนี้ อาจจะส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนทักษะชีวิตปนกิจกรรม สร้างสมรรถนะ และจะต้องสร้างความสนุกให้กับนักเรียน อาจเกี่ยวข้องกับสายอาชีพ หรือความสนใจเฉพาะของนักเรียน ซึ่งจะดีกว่าปล่อยให้เด็กวิ่งเล่น ผมคิดว่าก่อนที่ ศธ.จะให้เด็กปิดเทอม ควรที่จะให้หัวข้อใหญ่ๆ กับนักเรียน เพื่อให้ลงไปปฏิบัติในช่วงปิดเทอม และครูอาจจะต้องยอมเสียสละมาโรงเรียนเพื่อมาดูผลงาน มาดูความก้าวหน้าของนักเรียน ซึ่งจะไม่ทำให้คุณภาพของนักเรียนลดลง แต่จะทำให้นักเรียนเก่งมากขึ้นในเรื่องของทักษะอาชีพ และการลงมือปฏิบัติ” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

Advertisement

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวต่อว่า หลายประเทศค้นพบว่าการเรียนรู้ในช่วงเวลานี้ จำเป็นต้องมีอาสาสมัครเข้ามาช่วยในเรื่องการศึกษา ดังนั้น ถ้าไทยสามารถเชื่อมโยง บูรณาการ ประสานงานจัดให้มีอาสาสมัครการศึกษา เช่น ให้ครูเกษียณ ปราชญ์ชาวบ้าน อาสาสมัครจากคนที่ตกงาน หรือ ศธ.และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกันจ้างนิสิตนักศึกษาเป็นอาสาสมัคร ช่วยดูแลเด็กอีกทางหนึ่ง จะทำให้การศึกษามีคุณภาพมากขึ้นได้ ถ้าทำเช่นนี้ จะช่วยสร้างคุณภาพศึกษา เด็กมีเจตนคติที่ดี มีทักษะชีวิตโดยการลงมือปฏิบัติ จึงอยากให้ ศธ.มองวิกฤตนี้ คิดหาวิธีพัฒนา และปฏิรูปการศึกษา เพื่อทำให้การศึกษาของประเทศดีขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image