‘บอร์ด ก.ค.ศ.’ อนุมัติเกณฑ์ประเมินวิทยาฐานะใหม่ หวังให้ครูมีแนวทางพัฒนาชัดเจน

‘บอร์ด ก.ค.ศ.’ อนุมัติเกณฑ์ประเมินวิทยาฐานะใหม่ หวังให้ครูมีแนวทางพัฒนาชัดเจน ลดภาระเอกสารให้ยื่นทางออนไลน์

เมื่อวันที่ 25 มกราคม นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 1/2564 ว่าที่ประชุมเห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู สืบเนื่องจากที่ประชุม ก.ค.ศ. ได้เห็นชอบการกำหนดมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกตำแหน่ง และทุกวิทยฐานะ สำหรับตำแหน่งครู ซึ่งเป็นการได้กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบใหม่ ให้สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงกับการจัดการศึกษาในปัจจุบัน และทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกรวมทั้งกำหนดลักษณะงานที่ปฏิบัติ 3 ด้าน คือ ด้านการจัดการเรียนรู้,ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ และด้านการพัฒนาตนเองและวิชาชีพ ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับวิชาชีพครู เพื่อให้ครูได้พัฒนาตนเองให้มีศักยภาพสูงขึ้นตามระดับวิทยฐานะ ทำให้ครูมีแนวทางในการพัฒนาตนเองที่ชัดเจน สามารถนำผลการพัฒนามาใช้ในการพัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน

นายณัฏฐพล กล่าวต่อว่า หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินฯ ใหม่ มีสาระสำคัญได้ ดังนี้ 1. กำหนดให้ข้าราชการครูทุกคนทำข้อตกลงในการพัฒนางานกับผู้อำนวยการสถานศึกษาเป็นประจำทุกปี โดยประกอบด้วยเป็น 2 ส่วน คือ 1.ข้อตกลงในการพัฒนางานตามมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะ และ 2.ข้อตกลงในการพัฒนางานที่เสนอเป็นประเด็นท้าทายในการพัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน โดยมีรอบการประเมินปีงบประมาณละ 1 ครั้ง ผลการประเมินไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการบริหารงานบุคคล ได้แก่ ใช้เป็นคุณสมบัติในการขอรับการประเมินเพื่อให้มีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะใช้เป็นผลการประเมิน เพื่อคงวิทยฐานะและใช้เป็นองค์ประกอบในการประเมินเพื่อพิจารณาเลื่อนเงินเดือนสำหรับการยื่นคำขอ ให้ยื่นได้ตลอดปี ภาคเรียนละ 1 ครั้ง โดยหากยื่นไว้แล้ว ต้องได้รับแจ้งมติไม่อนุมัติก่อน จึงจะยื่นในวิทยฐานะเดิมได้

รัฐมนตรีว่าการ ศธ. กล่าวต่อว่า ส่วนคุณสมบัติของผู้ยื่นคำขอ 1.ต้องมีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งวิทยฐานะ 4 ปีติดต่อกัน กรณีลดระยะเวลาจะต้องมีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งวิทยฐานะ 3 ปีติดต่อกัน 2.มีการพัฒนางานตามข้อตกลง ในช่วงระยะเวลาย้อนหลัง 3 รอบการประเมิน ผ่านเกณฑ์ 3.ไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยและจรรยาบรรณที่หนักกว่าภาคทัณฑ์ ในช่วง 4 ปีย้อนหลัง และ4.สำหรับผู้ขอเลื่อนเป็นวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญและครูเชี่ยวชาญพิเศษ ต้องมีผลงานทางวิชาการด้วย สำหรับการประเมินกำหนดให้มีการประเมิน 2 ด้าน คือ 1 ด้านทักษะการจัดการเรียนรู้และการจัดการชั้นเรียน ด้านที่ 2 ด้านผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน สำหรับวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญและครูเชี่ยวชาญพิเศษ จะมีการประเมินด้านที่ 3 คือ ด้านผลงานวิชาการด้วย ส่วนการยื่นคำขอ ให้ยื่นคำขอและหลักฐานประกอบการประเมินผ่านระบบวิทยฐานะดิจิทัล (Digital Performance Appraisal : DPA)

“การปรับเกณฑ์และวิธีการประเมินครูครั้งนี้ เพื่อลดภาระของครู และเป็นการนำเทคโนโลยีมาประกอบในการที่จะผลักดันให้สามารถตรวจสอบ ให้ข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ ถือเป็นกระบวนการที่ทำให้ครูมีความชัดเจนในแนวทางก้าวหน้าของตนเอง และมีความเท่าเทียมในโอกาสการเติบโต ทั้งนี้บุคลากรทางการศึกษาต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตาม กระบวนการนี้ต้องใช้เวลาเพื่อให้เห็นผลชัดเจน การอนุมัติหลักเกณฑ์ครั้งนี้เพื่อจะได้เริ่มกระบวนการทำงานทันที โดยหลักเกณฑ์ใหม่ สามารถดำเนินการคู่ขนานโดยยื่นคำขอตามหลักเกณฑ์เดิมได้ถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 และผู้ที่ประสงค์จะยื่นประเมินตามหลักเกณฑ์ใหม่ สามารถยื่นได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นไป” นายณัฏฐพล กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image