พศ.สยบข่าว ถูกหรือผิด ให้พระเตี้ยสึกกลางพรรษา ชี้เป็นไปตามหลักพระธรรมวินัย

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ที่หอประชุมสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม นายสมบัติ พิมพ์สอน รองโฆษกพศ. กล่าวถึงกรณีที่มีการเสนอข่าวพระชั้นผู้ใหญ่ในจ.จันทบุรี มีคำสั่งให้พระตี๋ หรือนายเสริมศักดิ์ ไม้สูงเนิน มีความสูง 99 ซม. สึกกลางพรรษา โดยให้เหตุผลว่าถ้าไม่ทำการสึกพระอุปัชฌาย์ต้องสึกเอง เนื่องจากในพระวินัยบัญญัติห้ามคนเตี้ยเกินไปอยู่ด้วย จนเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมว่าทำถูกต้องหรือไม่ว่า ตนทราบมาว่าพระรูปดังกล่าวมีความสูงเพียง 99 ซม. ซึ่งตามหลักพระธรรมวินัย ในพระไตรปิฎก เล่มที่ 4 พระพุทธเจ้าท่านกำหนดลักษณะที่ต้องห้ามบรรพชาอุปสมบทไว้ โดยพระพุทธองค์พระบัญญัติตั้งแต่เรื่องความศรัทธาของผู้ที่บวชเข้ามาในพระพุทธสาสนาว่ามีศรัทธาหรือไม่ และบัญญัตติถึงสภาพภายนอกของร่างกาย ซึ่งมีบัญญัติไว้ว่าห้ามผู้ที่เตี้ยเกินไป ตาบอด 2 ข้าง และมือด้วนเท้าด้วนบวช เมื่อเปรียบกับปัจจุบันเหมือนเป็นการตั้งกฎเกณฑ์ที่จะรับเข้าหมู่คณะ หากรับเข้าไปในหมู่คณะแล้วอาจไม่เป็นที่ศรัทธาของญาติโยม แต่อย่างไรก็ตามแม้พระตี๋ สึกแล้วก็สามารถปฏิบัติธรรมบำเพ็ญกุศลในพระพุทธศาสนาได้

เมื่อถามว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความบกพร่องของพระอุปัชฌาย์หรือไม่ นายสมบัติ กล่าวว่า พระอุปัชฌาย์ ท่านอาจจะหลงลืมและให้บวชไป แต่อย่างไรก็ตามท่านก็ต้องให้สึก เพราะถ้าไม่สึกพระอุปัชฌาย์จะต้องอาบัติเอง เพราะกฎในข้อนี้ถ้าบวชให้พระภิกษุที่พระพุทธทรงห้าม พระอุปัชฌาย์ต้องอาบัติอยู่ร่ำไป การให้สึกคือการระงับอาบัติ ส่วนการให้สึกกลางพรรษา ประชาชนอาจจะมองว่าไม่ใช่แนวปฏิบัติหรือเป็นสิ่งไม่ดีนั้น ขอแจงว่าไม่มีผลอะไร เช่น กรณีที่พระภิกษุต้องจำพรรษาที่วัดใดวัดหนึ่งช่วงเข้าพรรษา หากมีเหตุต้องไปปฏิบัติศาสนกิจนอกวัด ต้องสัตตาหะ หรือขออนุญาตไปอยู่นอกวัดได้ครั้งละไม่เกิน 7 วัน แต่สามารถไปเกิน 7 วัดได้ เพียงแต่จะไม่นับพรรษาให้เท่านั้น

เมื่อถามว่าในสมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าเคยบวชให้คนแคระได้จริงหรือไม่ นายสมบัติ กล่าวว่า ในสมัยพุทธกาลน่าจะบรรพชาเป็นสามเณรมากกว่า ถ้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ไม่เคยมี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในพระไตรปิฎกฉบับประชาชน ได้ระบุลักษณะที่ไม่ควรให้อุปสมบท (บวชเป็นพระ) 20 ประเภท อาทิ 1. ผู้ไม่มีอุปัชฌายะ 2.ผู้มีอุปัชฌายะเป็นสงฆ์ (อุปัชฌายะต้องมีรูปเดียว ไม่ใช่มากรูป) 3.ผู้มีอุปัชฌายะเป็นกะเทย เป็นต้น แต่ไม่ปรากฏห้ามบวชพระเตี้ย แต่พบว่าการห้ามคนที่เตี้ยเกินไปบวชนั้น อยู่ในบัญญัติข้อ 12 ของลักษณะที่ไม่ให้บรรพชาเป็นสามเณร 32 ประการ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image