ตั้ง‘เอกชัย’คุมบอร์ดสมศ. ปักธงสร้างทัศนคติเชิงบวก-ทันสมัย ดึง‘เขตพื้นที่ฯ’ช่วยพัฒนาร.ร.ต่อเนื่อง

ตั้ง‘เอกชัย’คุมบอร์ดสมศ. ปักธงสร้างทัศนคติเชิงบวก-ทันสมัย ดึง‘เขตพื้นที่ฯ’ช่วยพัฒนาร.ร.ต่อเนื่อง

นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ รักษาการประธานคณะกรรมการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมิน คุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยว่า ตนได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรักษาการประธานคณะกรรมการ สมศ. โดยคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะกำกับดูแล สมศ.ได้มอบนโยบายเน้นย้ำ ให้ สมศ.ปรับภาพลักษณ์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้โรงเรียนมีทัศนคติเชิงบวกกับการประเมิน โดยพยายามเปลี่ยนวิธีการประเมินใหม่ให้ทันสมัย จะต้องสุ่มประเมินโรงเรียนเป็นระยะเพื่อมาดูว่าโรงเรียนปรับปรุงพัฒนาจริงหรือไม่ รวมถึงมีการติดตามผลจากเดิม ประเมินเสร็จแล้วส่งรายงานให้โรงเรียนและหน่วยงานต้นสังกัดรับทราบ ไม่มีการติดตามผล ส่งผลให้โรงเรียนไม่นำผลประเมินมาพัฒนาการเรียนการสอน ซึ่งต่อไปเรื่องเหล่านี้ต้องปรับเปลี่ยน ทำในรูปแบบใหม่ เป็นประเมินเพื่อหาทางช่วยโรงเรียนพัฒนาการเรียนการสอน เช่น เมื่อประเมินแล้ว พบว่าโรงเรียนต้องปรับปรุงด้านวิชาการ สื่อการสอนให้ดีขึ้น ก็อาจติดต่อนักวิชาการในแต่ละพื้นที่มาช่วยให้ความรู้กับโรงเรียน และเมื่อนักวิชาการมาช่วยให้ความรู้กับโรงเรียนแล้ว โรงเรียนจะต้องทำรายงานส่งมาที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จากนั้นเขตพื้นที่ฯ จะต้องกำกับดูแลการพัฒนาให้เป็นไปในทิศทางที่กำหนด รวมถึงมีการประเมินผลความสำเร็จของการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ถ้า สมศ.สามารถทำระบบนี้ได้ดีเชื่อว่าจะช่วยให้การศึกษาดีขึ้นและจะเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างโรงเรียนทั่วทั้งประเทศ

“สิ่งเหล่านี้เป็นแนวทางที่ผมจะเสนอให้ สมศ.ปรับปรุงการทำงาน เพราะ สมศ.ตั้งมา 22 ปีแล้ว โรงเรียนในประเทศยังไม่มีคุณภาพอยู่เช่นเดิมเหมือนเดิม ดังนั้น สมศ.จะต้องหาวิธีการและแนวทางที่จะช่วยเหลือโรงเรียน ให้สามารถพัฒนาการเรียนการสอน นอกจากนี้ผมจะเสนอให้ปรับองค์ประกอบการประเมินใหม่ ทั้งผู้ประเมิน วิธีประเมิน ผลการประเมิน และการนำผลประเมินสู่การปฏิบัติ ที่จะต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น เพราะมองว่า การนำผลประเมินของ สมศ.สู่การปฏิบัติเขตพื้นที่ฯ ต้องเป็นผู้ดูแล ไม่ใช่หน้าที่ของ สมศ.ที่จะลงไปกำกับดูแล” นายเอกชัยกล่าว

นายเอกชัยกล่าวต่อว่า สิ่งที่ตนเสนอให้ สมศ.ปรับเปลี่ยนอีกอย่างหนึ่งก็คือ เกณฑ์การตัดสินผลการประเมิน ที่เดิมใช้คำว่า ดีเยี่ยม ดีมาก ดี พอใช้ และปรับปรุง มาเป็นใช้คำว่าผ่านเกณฑ์ และรอการปรับปรุงแก้ไขเท่านั้น เพื่อไม่ให้โรงเรียนเสียกำลังใจ หรืออาจจะปรับให้เป็นการประเมินแบบไม่เหมารวม เช่น โรงเรียนผ่านการประเมินด้านวิชาการ แต่ต้องปรับปรุงด้านอาคารสถานที่ เป็นต้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา เช่นที่ผ่านมาที่การกำหนดผลการประเมินว่า ดีเยี่ยม ดีมาก ดีพอใช้และปรับปรุง คือ ผู้อำนวยการและโรงเรียนอยากได้ผลประเมินดีเยียม เพื่อให้ผู้อำนวยการทำเรื่องขอย้ายเพื่อไปอยู่ในโรงเรียนขนาดใหญ่กว่า โรงเรียนจึงนำนักเรียนมาติว เพื่อให้นักเรียนทำคะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ตดีขึ้น เมื่อโรงเรียนได้รับคะแนนโอเน็ตดีขึ้น การประเมินของ สมศ.ก็จะดีขึ้นตามมาด้วย ซึ่งจะช่วยให้ผู้อำนวยการโรงเรียนมีผลงานและสามารถทำเรื่องขอย้ายโรงเรียนได้ โดยเร็วๆ นี้จะเสนอให้ที่ประชุม สมศ. พิจารณาต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image