คณบดีการบินฯ มธบ.ปรับหลักสูตร เตรียมพร้อม น.ศ.คาดธุรกิจการบินฟื้นหลังทั่วโลกรับวัคซีนโควิด-19

คณบดีการบินฯ มธบ.ปรับหลักสูตร เตรียมพร้อม น.ศ.คาดธุรกิจการบินฟื้นหลังทั่วโลกรับวัคซีนโควิด-19

น.ต.ดร.วัฒนา มานนท์ คณบดีวิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน (CADT) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 และแนวโน้มทิศทางการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินในอนาคต ว่า ในปี 2562 ก่อนเกิดการแพร่ระบาด ผู้โดยสารที่ใช้การเดินทางทางอากาศในประเทศไทยมีกว่า 160 ล้านคนต่อปี มีเที่ยวบินกว่า 1 ล้านเที่ยวบิน แต่ภายหลังการระบาด ผู้โดยสารหายไปกว่าครึ่ง ส่งผลให้บุคลากรที่ทำงานในอุตสาหกรรมการบินเกือบ 3 ล้านคน ได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยหน่วยงานด้านการบินมองว่า เมื่อประชากรทั่วโลกได้รับวัคซีนโควิด-19 จะทำให้ความเชื่อมั่นในการเดินทางระหว่างประเทศกลับมา ส่วนสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ย้ำว่าหากไทยเริ่มใช้วัคซีนในปี 2564 จะเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมการบิน และหากคนทั่วโลกได้รับวัคซีนอย่างแพร่หลายแล้ว ปี 2565 การเดินทางด้วยสายการบินจะกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง

น.ต.ดร.วัฒนากล่าวอีกว่า CADT ได้เตรียมความพร้อมให้นักศึกษา โดยนำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบการขนส่งทางอากาศในอนาคตมาปรับหลักสูตร รวมถึง สร้างองค์ความรู้ผ่านการอบรม ให้นักศึกษาปรับตัวเท่าทันการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดย IATA มองว่าหลังสถานการณ์การแพร่ระบาด รูปแบบการขนส่งทางอากาศ และการให้บริการบนเครื่องบินจะปรับเปลี่ยนเพื่อความปลอดภัยของผู้รับบริการ และผู้ให้บริการ สำหรับสาขาการเรียนของ CADT มี 2 สาขาได้แก่ สาขาธุรกิจการบิน ซึ่งนักศึกษาส่วนใหญ่ที่มาเรียนเพราะมีความฝันอยากเป็นเจ้าหน้าที่ให้บริการในท่าอากาศยาน พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน รวมถึง พนักงานบริการภาคพื้น เน้นการให้บริการเป็นหลัก ส่วนสาขาการจัดการเทคโนโลยีการบิน เรียนเพื่อทำอาชีพพนักงานอำนวยการบิน ซึ่งเป็นอาชีพที่มี License ไปทำงานต่างประเทศได้ หรือจะไปศึกษาต่อยอดประกอบอาชีพเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ หรือนักบิน

“หลักสูตรของ CADT ยังสอดรับกับนโยบายของ มธบ.ที่เน้นปลูกฝังทักษะความเป็นผู้ประกอบการ ให้นักศึกษาปรับตัวให้อยู่ได้ทุกการเปลี่ยนแปลง พร้อมผนวกการใช้หลักการของ Competencis มาประยุกต์ใช้ในการเรียน ที่ใช้ได้ผลในธุรกิจสายการบินมากว่า 20 ปี ประกอบด้วย Knowledge (K) องค์ความรู้ที่ได้จากภาคทฤษฎี Skill (S) ทักษะที่เกิดจากการฝึกปฏิบัติและประสบการณ์ และ Attitude (A) ทัศนคติที่ดีในการทำงาน อย่างไรก็ตาม จากการติดตามนักศึกษาที่จบไปรุ่นแรกในปีการศึกษา 2563 ส่วนใหญ่ทำธุรกิจส่วนตัว และมีบางส่วนทำงานในท่าอากาศยาน ซึ่งถือว่าปรับตัวได้ดีต่อสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ส่วนนักศึกษาหลายคนยังรอโอกาสในการทำงานในสายการบินหลังสถานการณ์ทุกอย่างกลับมาปกติอีกครั้ง” น.ต.ดร.วัฒนา กล่าว

Advertisement

น.ต.ดร.วัฒนากล่าวอีกว่า มธบ.ยังมีสถาบันการบิน หรือ DAA ศูนย์อบรมทางด้านการบินแบบครบวงจรสำหรับนักศึกษา บุคคลทั่วไป ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้จัดหลักสูตรอบรมออนไลน์ให้กับบุคลากรการบินที่รองาน เพื่อเตรียมความพร้อม ทั้งนี้ อยากให้ CADT DPU เป็นศูนย์รวมทุกอย่างด้านธุรกิจการบิน หรือ One Stop Service เพราะเชื่อมั่นว่าคืออันดับ 1 ของประเทศ มีความพร้อมทุกด้าน นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรนักบินส่วนบุคคล มีเครื่องช่วยฝึกบินจำลอง ที่ทันสมัย และเหมือนขับเครื่องบินจริง และ CADT ยังเป็นหนึ่งในไม่กี่สถาบันที่ได้รับรองจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) ที่สำคัญเป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านการบินที่ได้รับการรับรองจาก IATA โดยเริ่มจัดอบรมตั้งแต่ปี 2559 ใน 4 หลักสูตร คือ 1.หลักสูตรพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน 2.หลักสูตรการปฏิบัติงานในท่าอากาศยาน 3.หลักสูตรด้านนิรภัยการบิน และ 4.หลักสูตรการสร้างความตระหนักในการรักษาความปลอดภัยด้านการบิน

“ทางวิทยาลัยเตรียมหลักสูตรอบรมเพื่อสอบใบประกอบวิชาชีพด้านการบินที่จำเป็นสำหรับนักศึกษาปริญญาตรีที่เรียนจบจาก CADT DPU ในโครงการ CADT ++ (CADT พลัส พลัส) เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาเป็นบุคลากรที่มีความพร้อมสู่สายงานด้านการบิน +Plus ที่ 1 โครงการสอบคุณวุฒิวิชาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน และ +Plus ที่ 2 ใบประกาศนียบัตรจาก IATA Training โดยปีนี้มีโครงการให้ทุนสร้างฝันเด็กการบิน ทุนมีมูลค่ารวมกว่า 65,000 บาท” น.ต.ดร.วัฒนา กล่าว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image