สพฐ.เกลี่ย ‘1.4พันอัตรา’ ลง 20 สพม. ชงก.ค.ศ.เร่งบรรจุ ‘บิ๊กสพท.’ ใหม่

สพฐ.เกลี่ย ‘1.4พันอัตรา’ ลง 20 สพม. ชงก.ค.ศ.เร่งบรรจุ ‘บิ๊ก สพท.’ ใหม่ สพฐ.ยันเพิ่มเขตไม่เอี่ยวการเมือง

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ราชการกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เรื่อง การกำหนดและแก้ไขเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) โดยเพิ่มอีก 20 สพม.รวมเป็น 62 สพม.นั้น ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ออกคำสั่งแต่ตั้งปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการ สพม.ทั้ง 20 เขตแล้ว และมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการ สพม. แต่ตั้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในแต่ละพื้นที่ รวมถึงได้มีการทำพิธีเปิดป้าย สพม.ที่ตั้งใหม่ ทั้ง 20 เขตแล้ว ดังนั้นตอนนี้จึงถือว่าทั้ง 20 สพม.ที่ตั้งใหม่สามารถปฏิบัติงานในฐานะสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เต็มรูปแบบแล้ว
นายอัมพรกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การปฏิบัติหน้าที่ของผู้อำนวยการ สพม. และเจ้าหน้าที่ใน สพม.ใหม่ เป็นการทำงานตามคำสั่ง สพฐ.เท่านั้น ส่วนผู้อำนวยการ สพม.และเจ้าหน้าที่ที่จะต้องมาปฏิบัติหน้าที่ตัวจริงนั้น สพฐ.ได้เตรียมเสนอกรอบอัตรากำลังและขอเกลี่ยอัตรากำลัง ให้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) พิจารณา หากคณะกรรมการ ก.ค.ศ.เห็นชอบ สพฐ.จะดำเนินการเรียกบรรจุผู้อำนวยการ สพท.และรองผู้อำนวยการ สพท.ที่สอบขึ้นบัญชีไว้มาบรรจุใน สพม.ต่างๆ และเตรียมเปิดรับย้ายเจ้าหน้าที่ที่ประสงค์จะย้ายมาปฏิบัติงานใน สพม.ใหม่ หากยังไม่เต็มตามกรอบอัตราที่กำหนดไว้ ก็จะดำเนินการสอบคัดเลือกขึ้นบัญชีไปบรรจุทดแทน อย่างไรก็ตาม ทาง สพฐ.ได้ประสานภายในกับ ก.ค.ศ. เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรวดเร็วแล้ว
“การขอกรอบอัตรากำลังครั้งนี้ เป็นไปตามกรอบที่ สพฐ.มีอยู่ แต่ละ สพม.จะได้รับอัตราไม่เท่ากัน แบ่งตามขนาด เขตพื้นที่ใหญ่ กลางและเล็ก ภาพรวมกว่า 1,400 อัตรา ส่วนงบประมาณที่จะใช้ในการดำเนินการเรื่องนี้นั้น สพฐ.ยืนยันว่า การเพิ่ม สพม.อยู่ภายใต้หลักการไม่เพิ่มเงิน แต่จะใช้วิธีการบริหารจัดการภายใต้งบที่ สพฐ.มีอยู่ ทั้งนี้ได้กำชับไปยังผู้อำนวยการ สพท.หลักให้คำแนะนำ หากมีปัญหาอุปสรรค ก็ขอให้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหา” นายอัมพรกล่าว
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ยืนยันว่าการเพิ่ม สพม. ครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการ โดยใช้จำนวนโรงเรียนเป็นฐานในการคิด 1 เขต ควรมีโรงเรียนไม่น้อยกว่า 50 โรงเรียน เมื่อใช้จำนวนโรงเรียนเป็นฐาน ทำให้บางเขตพื้นที่ต้องดูแลโรงเรียนควบถึง 4 จังหวัด เมื่อมีคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ขึ้นมา ทำให้บางเขตต้องทำงานร่วมกับ 4 จังหวัด เกิดความยุ่งยาก ขณะเดียวกัน จังหวัดพื้นที่ห่างไกลก็จะไม่เกิดปัญหา ดังนั้นการเพิ่ม สพม.ครั้งนี้มองถึงประสิทธิภาพของการบริหารจัดการ และสุดท้ายเพื่อตอบโจทย์เรื่องคุณภาพในการบริหารจัดการ ไม่ใช่ว่าจะดึงใครมาเป็นพวก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image