ศธ.หารือทูตฟินแลนด์ ร่วมพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษครู-ผอ.

ศธ.หารือทูตฟินแลนด์ ร่วมพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษครู-ผอ.

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา (ศธ.) เปิดเผยภายหลังหารือนายยูริ ยาร์วียาโฮ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทย ว่า ที่ผ่านมาศธ.ทำงานร่วมกับสาธารณรัฐฟินแลนด์ 2 เรื่อง คือด้านวิทยาศาสตร์ และด้านภาษาอังกฤษที่ได้ฝึกครูจำนวน 36 คน ผ่านออนไลน์ ที่จะสิ้นสุดในเดือนมิถุนายนนี้ โดยต่อไป ศธ.จะประเมินว่าครูที่รับการสอนภาษาของสาธารณรัฐฟินแลนด์เป็นอย่างไร ซึ่งการทำงานที่ผ่านมา ศธ.และสาธารณรัฐฟินแลนด์ยังไม่ได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันอย่างเป็นทางการ ซึ่งตนมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่างบันทึกข้อตกลงให้เสร็จภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ ได้หารือถึงแนวทางพัฒนาการศึกษาร่วมกันว่าควรจะทำอะไรบาง สิ่งที่เห็นร่วมกันคือ การพัฒนาสิ่งแวดล้อม พัฒนาการเกษตร การพัฒนาการเรียนการสอน พัฒนาภาษาอังกฤษของครูและผู้อำนวยการสถานศึกษา รวมทั้งอัพสกิล รีสกิลโดยอาจจะเปิดสอนระยะสั้นให้กับผู้ที่ตกงาน เพื่อช่วยคนที่ตกงานเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ และการฝึกร่างกายหรือการเรียนในวิชาพละศึกษา ซึ่งตนเสนอไปว่า การสอนพละควรจะสอนเป็นภาษาอังกฤษควบคู่กับไป เพื่อให้เด็กเรียนภาษาอังกฤษอย่างสนุก

คุณหญิงกัลยากล่าวต่อว่า หลังจากบันทึกข้อตกลงร่วมกันแล้ว ศธ.และสาธารณรัฐฟินแลนด์ จะพัฒนาการศึกษาร่วมกัน โดยจะต้องไปดูว่าโครงการที่จะพัฒนานั้น เหมาะกับผู้เรียนระดับไหนบ้าง เพื่อให้สามารถพัฒนาการศึกษาให้กับผู้เรียนทุกสังกัดได้ แม้หลายคนมองว่าการศึกษาของสาธารณรัฐฟินแลนด์ จะเป็นการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก แต่บางบริบทก็ไม่สามารถใช้ในประเทศไทยได้ ซึ่งตนชี้แจงกับเอกอัครราชทูตแล้วว่าหากทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน ศธ.ไม่สามารถนำต้นแบบการศึกษาของสาธารณรัฐฟินแลนด์มาใช้ได้ทั้งหมด เพราะคน ความคิด วัฒนธรรมของทั้งสองประเทศนั้นแตกต่างกัน ซึ่งทางสาธารณรัฐฟินแลนด์เข้าใจ และเห็นตรงกันว่าการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันครั้งนี้ ควรทำแบบกว้างๆ เพื่อให้ ศธ.ปรับใช้ให้ตรงกับบริบทของประเทศได้

“ทั้งนี้ยังไม่ได้ลงรายเอียดว่าจะเข้าไปพัฒนาโรงเรียนใดบ้าง แต่ที่เห็นตรงกันคือควรพัฒนาครูและผู้บริหารสถานศึกษา ให้มีความรู้ด้านภาษามากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ตรงกับนโยบายของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ที่ให้ความสำคัญกับผู้บริหารสถานศึกษา เพราะมองว่าผู้ที่จะต้องมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน จะต้องมีความรู้ด้านภาษาอังกฤษ และมีความรู้เรื่องเทคโนโลยี” คุณหญิง กัลยากล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image