‘สพฐ.’ เชื่อรับน.ร.ปี’64 ไม่มีแป๊ะเจี้ยะ เลื่อนสอบวันเข้า ม.4 ร.ร.วัตถุประสงค์พิเศษ เหตุตรงเลือกตั้งท้องถิ่น

‘สพฐ.’ เชื่อรับน.ร.ปี’64 ไม่มีแป๊ะเจี้ยะ เลื่อนสอบวันเข้า ม.4 ร.ร.วัตถุประสงค์พิเศษ เหตุตรงเลือกตั้งท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ออกนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2564  พร้อมทั้งคู่มือการรับนักเรียน ไปให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) และสถานศึกษาในสังกัดทั่วประเทศได้ปฏิบัติ โดยกำหนดการรับนักเรียนก่อนระดับประถมศึกษา รับสมัครวันที่ 20-24 มีนาคม จับสลากวันที่ 4 เมษายน ซึ่งสพฐ.เน้นย้ำกับทุกโรงเรียนชัดเจนว่าห้ามสอบวัดความรู้ ให้นักเรียนทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกับโดยให้โรงเรียนดำเนินการจับสลากรับนักเรียนเข้าเรียน และถ้านักเรียนจับสลากไม่ได้ สพฐ.ก็มีโรงเรียนรองรับให้นักเรียนมีที่เรียนทุกคน เช่นเดียวกับการรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่สพฐ.กำหนดให้โรงเรียนรับนักเรียนโดยการจับสลาก เพื่อให้นักเรียนทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน

นายอัมพร กล่าวต่อว่า การรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ ปีที่ 4 สพฐ.กำหนดให้โรงเรียนออกข้อสอบวัดความรู้ ความสามารถเพื่อรับนักเรียนได้ โดยให้โรงเรียนใช้คะแนนของตนเอง 100% เพื่อรับนักเรียนได้ โดยไม่ต้องเอาผลคะแนนทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต มาประกอบใช้ในการรับนักเรียนเข้าเรียน ทั้งนี้ สพฐ.กำหนดจำนวนนักเรียนไว้ 40 คนต่อห้อง ซึ่งโรงเรียนสามารถขยายจำนวนนักเรียนเพิ่มได้ไม่เกิน 4 คนต่อห้อง อย่างไรก็ตาม ตามเจตนารมณ์ของ สพฐ.คือมีเป้าหมายว่าจำนวนนักเรียนต่อห้องไม่ควรเกิน 40 คนต่อห้อง แต่ถ้าจะปรับทันทีอาจจะกระทบกับความรู้สึกของนักเรียนและผู้ปกครอง และต้องให้เวลานักเรียนเตรียมตัวเพื่อไม่ให้เกิดความเครียดและกดดัน สพฐ.จึงค่อยๆ ลดการเพิ่มจำนวนนักเรียนต่อห้องไปทีละปี และจะประกาศให้นักเรียนและผู้ปกครองทราบล่วงหน้าด้วย

“ส่วนการจัดห้องสอบของโรงเรียนแข่งขันสูง ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนานั้น ให้โรงเรียนถอดบทเรียนจากการจัดสอบของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษามาใช้ เช่น การจัดสอบจะต้องเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลไม่น้อยกว่า 2 เมตร กำหนดให้นักเรียนเข้าสอบครั้งเดียวจนเสร็จ จึงจะสามารถออกจากห้องสอบได้ โดยโรงเรียนจะบริการอาหารว่างให้แก่นักเรียนที่เข้าสอบในช่วงเวลาพัก เพื่อลดการสัมผัสและรวมกลุ่มกัน เป็นต้น ส่วนการเรียนรับเงินเพื่อแลกที่นั่ง หรือ แป๊ะเจี๊ยะนั้น ไม่สามารถดำเนินการได้ และ สพฐ.ไม่มีมาตรการมารองรับเรื่องดังกล่าว เพราะ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  กำหนดไว้แล้วว่าการเรียกรับเงินแป๊ะเจี๊ยะนั้นเป็นเรื่องผิดกฎหมาย” นายอัมพร กล่าว

นายอัมพร กล่าวต่อว่า สพฐ. มีความหว่งใยต่อความเครียดของนักเรียนและผู้ปกครอง ที่เรียกร้องให้เลื่อนสอบรายวิชาที่ใช้ในระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา หรือ ทีแคส เช่น การสอบโอเน็ต 9 วิชาสามัญ และ GAT/PAT เพราะตรงกับวันสำคัญต่างๆ  เช่น วันเลือกตั้งสมาชิกเทศบาล ในวันที่ 28 มีนาคม และจากที่ สพฐ.หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดตารางสอบใหม่เพื่อไม่ให้ทับซ้อนกับวันสำคัญ เช่น การเลื่อนสอบโอเน็ต จากวันที่ 27-28 มีนาคม เป็นวันที่ 27 และ 29 มีนาคม การสอบเข้าระดับชั้นม.4 ร.ร.วัตถุประสงค์พิเศษ จากเดิมที่ตรงกับวันที่ 28 มีนาคม ก็เลื่อนเป็นวัน 8 เมษายน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image