‘สพฐ.’ ยัน ไม่ถอด ‘วิชาประวัติศาสตร์-หน้าที่พลเมือง’ ออกจากหลักสูตร ย้ำ มีความสำคัญเด็กต้องเรียนรู้

‘สพฐ.’ ยัน ไม่ถอด ‘วิชาประวัติศาสตร์-หน้าที่พลเมือง’ ออกจากหลักสูตร ย้ำ มีความสำคัญเด็กต้องเรียนรู้

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม นายอัมพร  พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยกรณีที่มีการตั้งคำถามว่า คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ถอนรายวิชาประวัติศาสตร์และวิชาหน้าที่พลเมืองออกจากการเรียนการสอน ว่า ไม่เป็นความจริง สพฐ. ได้กำหนดให้นักเรียนทุกระดับชั้นเรียนวิชาประวัติศาสตร์และวิชาหน้าที่พลเมือง โดยหลักสูตรที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้นำวิชาหน้าที่พลเมือง วิชาศาสนา วิชาประวัติศาสตร์ และวิชาเศรษฐศาสตร์ รวมอยู่ในกลุ่มสาระวิชาสังคมศึกษา ทั้งนี้ วิชาประวัติศาสตร์ กำหนดให้เรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยกำหนดชั่วโมงเรียนตามระดับชั้น เช่น ป.1- ม.3 ให้เรียน 40 ชั่วโมงต่อปี หรือสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง ชั้นม. 4-6 ตลอด 3 ปี มีเวลาเรียน 80 ชั่วโมง เป็นต้น ในส่วนวิชาหน้าที่พลเมือง นอกจากกำหนดเวลาเรียนแล้ว ยังได้มีการกำหนดชั่วโมงเรียนในภาคปฎิบัติ โดยเริ่มตั้งแต่เรียนรู้เรื่องรัฐธรรมนูญ การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นต้น โดยอาจจะบูรณาการเพิ่มเติมกับรายวิชาอื่นๆในกลุ่มสาระสังคมศึกษาหรือกิจกรรมอื่นๆภายในโรงเรียน

“ทางสพฐ. ได้ส่งเสริมให้ทุกโรงเรียนหาวิธีการจัดการเรียนการสอน ที่คำนึงถึงประวัติศาสตร์ของชุมชน ประวัติศาสตร์ที่ใกล้ตัว ทั้งของชาติ สังคม ภูมิศาสตร์และภูมิภาคของโลก โดยเน้นรูปแบบการเรียนสอนแบบกลุ่ม การเรียนเชิงวิจัย การค้นคว้าและอภิปราย การตั้งคำถาม การแสดงละคร รวมถึงการเรียนนอกสถานที่ ที่จะบูรณาการร่วมกับการทัศนศึกษา โดยเน้นสถานที่ที่เป็นประวัติศาสตร์ ส่วนวิชาหน้าที่พลเมือง จะต้องสอนให้นักเรียนรู้จักหน้าที่ของตนเองต่อครอบครัว ต่อสังคมและประเทศชาติ ซึ่งจะเน้นการปฎิบัติควบคู่ไปกับทฤษฎี” นายอัมพรกล่าว

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า สำหรับสื่อการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์และวิชาหน้าที่พลเมือง สพฐ. ได้ส่งเสริมให้มีการผลิตหนังสือเรียน ทั้งของทางภาครัฐและภาคเอกชนที่ต้องมีหนังสือเรียนเป็นการเฉพาะ โดยส่งเสริมการผลิตสื่อโดยใช้เทคโนโลยี ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ(สนช.)ได้ผลิตสื่อการเรียนรู้เป็นวีดีโอเรื่องสั้นทั้งหมด 10 เรื่อง รวมถึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในการสร้างเทคโนโลยีภาพเสมือนจริงหรือAR สำหรับใช้จัดการเรียนการสอน โดยทางสำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน(สทร.) รวบรวมสื่อการเรียนการสอนทั้งหมดไว้ใน OBEC Channel เพื่อให้โรงเรียนสามารถนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้

“ปีการศึกษา 2564 นี้ สพฐ.จะรณรงค์ให้ทุกโรงเรียนเล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง เพื่อให้เด็กมีคุณธรรมและจริยธรรม เพราะถ้าเด็กดีและเก่ง เด็กจะสามารถสร้างประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติได้ นี่คือความคาดหวังและเป็นจุดเน้นของสพฐ. ที่จะนำเรื่องประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมืองลงสู่การจัดการศึกษาที่มีความเข้มข้นต่อไป” นายอัมพรกล่าว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image