‘สพฐ.’ผุดโปรแกรมประเมินร.ร. หวังใช้ผลเพิ่มคุณภาพ-ควบรวม

สแกนข้อมูล2.9หมื่นโรงเรียน ‘สพฐ.’ ผุดโปรแกรมประเมินร.ร. หวังใช้ผลเพิ่มคุณภาพ-ควบรวม

นายเอกชัย  กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้เชิญทีมวิจัยของธนาคารโลกมาหารือ เกี่ยวกับการดำเนินโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียน ด้วยโปรแกรม Fundamental School Quality Levels (FSQLs) หรือการจัดทำข้อมูลองค์ประกอบมาตรฐานขั้นพื้นฐานในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพของโรงเรียน  โดยจะประเมินใน 7 ด้าน คือ ประสิทธิภาพการบริหารจัดการของโรงเรียน  อำนาจอิสระธรรมาภิบาลของโรงเรียน โครงสร้างพื้นฐาน ความเสมอภาคทางการศึกษา  คุณภาพและประสิทธิผลการสอนของครู  ประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร และการมีส่วนร่วมของชุมชน ทั้งนี้ข้อมูลที่ได้ทั้งหมดจะถูกนำมาเป็นฐานในการจัดสรรงบประมาณ รวมถึงจะนำไปใช้ประโยชน์ในการควบรวมสถานศึกษาในอนาคต เชื่อว่าจะช่วยให้การจัดสรรงบประมาณและการควบรวมโรงเรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยคาดว่าจะเริ่มนำร่องเก็บข้อมูลในกลุ่มโรงเรียนเขตพื้นที่นวัตกรรมเพราะเป็นโรงเรียนที่ค่อนข้างมีอิสระ สามารถนำข้อมูลไปขยายผลต่อไปได้

นายอัมพร  พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ในที่ประชุมกพฐ.ตนได้เสนอกรอบแนวคิดในการพัฒนาคุณภาพโรงเรียน  ซึ่งจะมีการพัฒนาตามกลุ่มและบริบทของโรงเรียนแต่ละแห่ง อย่างโรงเรียนสำหรับเด็กด้อยโอกาสและเด็กพิการ ก็จะมีเป้าหมายวิธีการบริหารจัดการ และวิธีการส่งเสริมที่เป็นการเฉพาะ   ส่วนโรงเรียนปกติ จะให้โรงเรียนมีการตรวจสุขภาพ หรือการประเมินตัวเองโดยใช้ FSQLs เป็นเครื่องมือในการจัดทำข้อมูล เพื่อพัฒนา ให้สัมพันธ์กับการประเมินคุณภาพภายใน และรองรับการประเมินคุณภาพภายนอก ดังนั้นต่อไปทั้งครู เด็กโรงเรียนต้องมีแผนพัฒนาตัวเอง เพื่อจะประเมินให้เกิดความก้าวหน้า โดยไม่อยากเห็นโรงเรียนไปเปรียบเทียบกันเอง เพราะบริบทของแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น อยากให้โรงเรียนแต่ละแห่งเริ่มต้นจากตรวจสุขภาพตนเอง แล้วพัฒนาจากปัญหาที่พบให้ดีขึ้นตัวตัวเอง ส่วนอะไรที่เกินจากความสามารถ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะเข้าไปสนับสนุนตามลำดับ

“อีกประเด็นที่เสนอกับที่ประชุมคือการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งแน่นอนว่าเราไม่สามารถให้ 29,000 โรงเรียนคงอยู่ทั้งหมดอย่างเช่นปัจจุบัน เพราะโรงเรียนขนาดเล็กมีมากขึ้น ประกอบกับไม่สามารถเติมครูและผู้บริหารได้ทุกโรงเรียน ดังนั้น จึงต้องให้มาเรียนร่วมกัน ตรงนี้เป็นอีกเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญพิเศษ หากจะให้โรงเรียนใดมาเรียนร่วมกัน ก็ต้องมีการตรวจสุขภาพก่อน ว่ามีความพร้อมหรือไม่ และหากยังไม่เข้าร่วม แต่ต้องจัดสรรงบประมาณลงไปก็จะใช้ข้อมูลจากการประเมินโดยเครื่องมือ FSQLs เข้ามาประกอบการพิจารณาด้วย เพื่อไม่ให้การจัดสรรงบประมาณที่สูญเปล่า ทำให้เกิดการพัฒนาที่ต่อยอด  ส่วนการปรับหลักสูตร ให้ทันต่อสถานการณ์ของโลกและตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน นั้น ที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาหลักสูตรอิงสมรรถนะ คาดว่าจะสามารถใช้ได้ทันภายในปีการศึกษา 2565 ซึ่งเรื่องนี้ที่ประชุมมีข้อเสนอแนะว่า ถ้าเป็นไปได้ควรมีการนำร่องในสถานศึกษา คู่ขนาดไปกับการพัฒนาหลักสูตรด้วย” นายอัมพร กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image