‘บิ๊กมัธยม’ โวย ว23 ทำอัตราครูลด หวั่นกระทบคุณภาพการศึกษา

‘บิ๊กมัธยม’ โวย ว23 ทำอัตราครูลด หวั่นกระทบคุณภาพการศึกษา

นายวิสิทธิ์ ใจเถิง ผู้อำนวยการโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) และว่าที่นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ทางส.บ.ม.ท.ได้เสนอให้ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พิจารณาปรับแก้หลักเกณฑ์ ว23/2563 เกณฑ์อัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา สังกัดสพฐ. ซึ่งกำหนดดังนี้ เวลาเรียนต่อสัปดาห์ ระดับปฐมวัน ไม่น้อยกว่า 800 ชั่วโมงต่อปี หรือ 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ประถมศึกษา ไม่น้อยกว่า 1,000 ชั่วโมงต่อปี 25 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มัธยมศึกษาตอนต้น ไม่น้อยกว่า 1,200 ชั่วโมงต่อปี หรือ 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และมัธยมศึกษาตอนปลาย ไม่น้อยกว่า 1,400 ชั่วโมงต่อปี หรือ 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

นายวิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า อัตรากำลังผู้บริหารสถานศึกษา จำนวนนักเรียน 41-199 คน ผู้อำนวยการสถานศึกษา 1 อัตรา ไม่มีรองผู้อำนวยการ จำนวนนักเรียน 120-719 คน ผู้อำนวยการโรงเรียน 1 อัตรา รองผู้อำนวยการโรงเรียน 1 อัตรา จำนวนนักเรียน 720-1,079 คน ผู้อำนวยการโรงเรียน 1 อัตรา รองผู้อำนวยการโรงเรียน 2 อัตรา จำนวนนักเรียน 1,080-1,679 คน ผู้อำนวยการโรงเรียน 1 อัตรา รองผู้อำนวยการโรงเรียน 3 อัตรา และจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 1,680 คนขึ้นไป ผู้อำนวยการโรงเรียน 1 อัตรา รองผู้อำนวยการโรงเรียน 4 อัตรา การกำหนดอัตราครู สถานศึกษาที่เปิดสอนระดับปฐมวัยและประถมศึกษา ที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 199 คนลงมา จำนวนนักเรียน 1-41 คน ครู 1-4 อัตรา 41-80 คน ครู 6 อัตรา 81-199 คน ครู 8 อัตรา ส่วนสถานศึกษาที่เปิดสอนระดับมัธยม ให้กำหนดอัตรากำลัง โดยนำจำนวนห้องเรียนแต่ละระดับการศึกษา ชั่วโมงตามหลักสูตร และชั่วโมงการปฏิบัติงานของครูมาคำนวณ

“การกำหนดอัตราดังกล่าว ทำให้โรงเรียนมัธยมทั้งขนาดเล็ก กลาง และขนาดใหญ่ เกิดปัญหา จำนวนครูลดลง เพราะสูตรดังกล่าวคำนวณเพื่อไปเพิ่มอัตราครูในโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีนักเรียนไม่ถึง 120 คน มีครูครบชั้น หรือมีครูครบ 6 คน ทั้งที่เด็กน้อย และเพิ่มอัตรารองผู้อำนวยการโรงเรียน ส่งผลให้โรงเรียนมัธยมมีจำนวนครูลง หากคิดตามหลักเกณฑ์ใหม่ อย่างโรงเรียนบดินทร์ฯ เองหากคิดอัตราจำนวนครูโดยใช้สูตรใหม่ จำนวนครูจะลดลงถึง 40 คน ทำให้ไม่เพียงพอต่อการจัดการเรียนการสอน เดิมหลักเกณฑ์ดังกล่าว จะต้องใช้ทันทีภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 แต่ทางสพฐ. ขอชะลอไว้ก่อน และจะเริ่มใช้ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ซึ่งหากใช้จึงจะทำให้เกิดปัญหา เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข เพื่อไม่ให้กระทบกับคุณภาพการศึกษา ทั้งนี้ทางผู้อำนวยกานโรงเรียนมัธยม ได้เสนอเรื่องดังกล่าวให้เลขาธิการกพฐ. เพื่อขอให้แก้ไขแล้ว แต่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.)” นายวิสิทธิ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image