สุจิตต์ วงษ์เทศ: ประวัติศาสตร์กรุงสุโขทัยแรกสถาปนา ได้จากจารึกวัดศรีชุม ไม่มีในจารึกพ่อขุนรามคำแหง

บริเวณวัดพระพายหลวง อยู่ทางทิศเหนือของเมืองสุโขทัย เป็นขอบเขตเก่าสุดของ “เมือง” ที่พ่อขุนศรีนาวนำถุมปกครองเป็น “เครือข่าย” ของรัฐละโว้

“สุโขทัย ไม่ใช่ราชธานีแห่งแรกของไทย” และไม่มีอาณาเขตกว้างขวางใหญ่โตถึงแหลมมลายูตามที่เคยเข้าใจ กรมศิลปากรควรบอกความจริงแก่สังคม เพื่อความปรองดองสมานฉันท์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ในช่วงนี้เป็นกาละเทศะเหมาะสมที่สุด (และเหมาะสมนานหลายสิบปีแล้ว)

ถ้าทำนอนหลับไม่รู้นอนคู้ไม่เห็น ก็เท่ากับหลอกลวงแล้วให้ร้ายสังคมไทยต่อไปอีกให้หลงผิด เข้าใจผิด แล้วขัดแย้งรุนแรงกับเพื่อนบ้านโดยรอบ เหมือนที่เคยเป็นมานานมาก

นอกจากนั้นก็เท่ากับกรมศิลปากรและกระทรวงวัฒนธรรม สมคบกันหากำไรจากการโฆษณาหลอกลวงให้คนไปเที่ยวราชธานีแห่งแรกของไทย ทั้งๆ รู้เต็มอกว่าไม่จริง

นักวิชาการทางประวัติศาสตร์โบราณคดีกรมศิลปากร ถือตนและยกตนว่ารอบรู้หลักฐานมากกว่าและดีกว่าใครในไทยและในโลก เมื่อพบว่าแท้จริงแล้ว “สุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรกของไทย” จึงปลดข้อความนี้ออกจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุโขทัย แล้วไม่เขียนใส่ในหนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทย (เล่มใหม่)

Advertisement

แต่ไม่แถลงข่าวเป็นทางการ ไม่มีเอกสารวิชาการอธิบายให้รู้ทั่วกันทั้งสังคมไทยและทั้งโลก อย่างนี้ไม่ดี ไม่เหมาะ

 

มีในจารึกวัดศรีชุม ไม่มีในจารึกพ่อขุน

ประวัติศาสตร์กรุงสุโขทัยสมัยแรกสถาปนา มีอยู่ในจารึกวัดศรีชุม (หรือจารึกสุโขทัย หลักที่ 2) ที่น่าเชื่อว่าทำขึ้นหลัง พ.ศ. 1884

Advertisement

ก่อนหน้านั้นไม่พบว่ามีจารึกกล่าวถึงความเป็นมากรุงสุโขทัย ในจารึกพ่อขุนรามคำแหงก็ไม่มี ผมเคยเขียนไว้ในหนังสือ กรุงสุโขทัย มาจากไหน? (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2536) จะคัดมาดังนี้

ข้อความจารึกวัดศรีชุม บอกชัดเจนว่าพ่อขุนศรีนาวนำถุม (หรือพระยาศรีนาวนำถุม) เสวยราชย์เป็นใหญ่ทั้ง 2 เมือง คือเมืองสุโขทัย กับเมืองศรีสัชนาลัย พร้อมทั้งได้กระทำประดิษฐานพระศรีรัตนมหาธาตุไว้ใกล้ฝั่งแม่น้ำด้วย

ในจารึกไม่มีบอกช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับหลักฐานอื่นๆ แล้ว นักปราชญ์ทั้งหลายมีความเห็นพ้องกันว่าเป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มชนตระกูลไต-ไทที่มีบ้านเมืองขนาดเล็กอยู่มาก่อนบริเวณลุ่มน้ำน่าน-ยม เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 18 หรือหลัง พ.ศ. 1700

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวคือพ่อขุนศรีนาวนำถุมมีถิ่นฐานบ้านเมืองเดิมอยู่ทางลุ่มน้ำน่าน (บริเวณอุตรดิตถ์กับพิษณุโลก) ได้ขยายอำนาจไปสถาปนาเมืองศรีสัชนาลัยกับเมืองสุโขทัย ขึ้นทางลุ่มน้ำยม นับเป็นต้นกำเนิดของรัฐสุโขทัย ที่มีพ่อขุนศรีนาวนำถุมเป็นกษัตริย์องค์แรก (เท่าที่พบหลักฐานขณะนี้)

ข้อความในจารึกบอกขอบเขตความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมกับบ้านเมืองแว่นแคว้นอื่นๆ ที่อยู่โดยรอบตามทิศทางต่างๆ ซึ่งส่วนหนึ่งหาหลักฐานไม่ได้ว่าอยู่ที่ไหน แต่บางแห่งรู้ได้ เช่น เมืองฉอด (น่าจะกินบริเวณตั้งแต่ อ. แม่สอด จ. ตาก จนลึกเข้าไปในแดนพม่าฝั่งแม่น้ำเมียวดี) เมืองลำพูน (จ. ลำพูน) เมืองเชียงแสน (ใน จ. เชียงราย) เมืองพะเยา (จ. พะเยา)

ต่อจากนั้นจารึกมีข้อความเล่าเรื่องพ่อขุนผาเมืองกับเหตุการณ์วุ่นวายภายในกรุงสุโขทัย

 

 แผนที่แสดงเส้นทางมหาเถรศรีศรัทธาฯ ไปลังกา
แผนที่แสดงเส้นทางมหาเถรศรีศรัทธาฯ ไปลังกา

เนื้อหาจารึกวัดศรีชุม

ข้อความในจารึกวัดศรีชุม เป็นคำบอกเล่าของเจ้านายองค์หนึ่ง สมัยนั้นมีนามในจารึกว่า “สมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีฯ” หรือจะเรียกย่อๆ ต่อไปว่า “ท่านศรีศรัทธา” ซึ่งมีชาติตระกูลเป็น “หลาน” ของพ่อขุนผาเมือง บวชเป็นภิกษุแล้วได้จาริกแสวงบุญไปประทับจำพรรษาอยู่ลังกาทวีปราว 10 ปี จนได้รับการยกย่องจากชาวสิงหลด้วยนามดังกล่าว จากนั้นเดินทางกลับแคว้นสุโขทัยตามเดิม

เมื่อกลับจากลังกาทวีปมาประทับอยู่เมืองใดเมืองหนึ่งของรัฐสุโขทัยซึ่งท่านศรีศรัทธาน่าจะอายุสูงมากแล้ว ได้เล่าเรื่องและประสบการณ์ต่างๆ ในอดีตให้ญาติโยมฟัง จะเรียกว่าเทศนาก็ได้ แล้วมีบุคคลกลุ่มหนึ่งจดไว้ ภายหลังได้เรียบเรียงสลักข้อความเทศนาลงบนแผ่นหินที่มีรูปแบบอย่างใบเสมา คือสิ่งที่ทุกวันนี้เรียก จารึกวัดศรีชุม

เนื้อหาสาระสำคัญของจารึกวัดศรีชุม คือยกย่องสรรเสริญบุญญาภินิหารของสมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีศรีรัตนลงกาทีปมหาสามี ที่เป็นหลานพ่อขุนผาเมือง นับเป็นเชื้อสายพ่อขุนศรีนาวนำถุม ผู้สถาปนาก่อตั้งรัฐสุโขทัยขึ้นมา

แต่มีรายละเอียดเคล้าคละปะปนอยู่ด้วยกัน จนบางตอนคลุมเครือเหลือจะกล่าวให้ชัดเจนได้ว่าอะไรเป็นอะไรแน่ ทำให้ผู้ศึกษาสมัยแรกๆ ต่างก็งุนงงสงสัยไปต่างๆ นานา

บางท่านถึงขนาดกล่าวว่า จารึกหลักนี้วิปริตผิดเพี้ยนก็มี แต่มีผู้รู้ศึกษาไว้แล้ว จับสาระสำคัญเป็นช่วงๆ ได้ราว 15 เรื่องต่อไปนี้

  1. อักษรตอนต้นชำรุดมาก แต่จับสาระสำคัญได้ว่า เกริ่นนำเรื่องไปลังกา
  2. เล่าประวัติพ่อขุนศรีนาวนำถุม ผู้สถาปนาเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัย
  3. เล่าเรื่องพ่อขุนผาเมืองกับพ่อขุนบางกลางหาวร่วมกันชิงเมืองสุโขทัยคืนจากขอม สบาดโขลญลำพง
  4. เล่าประวัติพ่อขุนผาเมือง แล้วกล่าวถึงพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พ่อขุนรามราช กับธรรมราชา กล่าวถึงพ่อขุนผาเมืองสร้างเจดีย์ไว้ในเมืองศรีสัชนาลัย
  5. เล่าเรื่องสรรเสริญ “หลานพ่อขุนผาเมือง” ชื่อ “สมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีศรีรัตนลงกาทีปมหาสามี” ทำบุญทำทาน รักษาศีล และกระทำบางสิ่งบางอย่างทางศาสนาไว้ในเมืองต่างๆ เช่น ศรีรามเทพนคร ลังกาทวีป ฯลฯ
  6. เล่าประวัติสมเด็จพระมหาเถรฯ เมื่อยังหนุ่มมีความเก่งกล้าสามารถ เป็นนักรบบนหลังช้าง ได้กระทำยุทธหัตถีกับขุนจังครั้งหนึ่ง กับท้าวอีจานอีกครั้งหนึ่ง
  7. เล่าประวัติสมเด็จพระมหาเถรฯ ย้อนไปตั้งแต่รุ่นเยาว์ แล้วเจริญวัยขึ้น ครั้นอายุได้ 31 ปี ก็บังเกิดศรัทธา (จบข้อความด้านที่ 1 แล้วขึ้นด้านที่ 2) สละลูกเมียทรัพย์สมบัติเป็นทานแล้วออกบวช จาริกแสวงบุญบำเพ็ญกุศลสร้างถาวรวัตถุต่างๆ เช่น ศาลาวัด สะพาน ฯลฯ
  8. เล่าเรื่องสมเด็จพระมหาเถรฯ ไปปฏิสังขรณ์พระมหาธาตุหลวงที่ “ขอมเรียกพระธม” อยู่ “กลางนครพระกฤษณ์” ในป่าดงแห่งหนึ่ง แล้วสืบค้นหาพระพุทธรูปหินเก่าแก่มารวบรวมไว้ในที่แห่งหนึ่งเพื่อซ่อมแซม
  9. กล่าวถึงพระศรีรัตนมหาธาตุ ชื่อ “ศรีธาญกดกา” ในปาตลีบุตรนคร ใกล้ฝั่งน้ำอโนมานที
  10. กล่าวว่า พระกฤษณ์คือตนสมเด็จพระมหาเถรฯ เหมือนพระรามพระนารายณ์มาจุติ
  11. กล่าวถึงพระเจดีย์สูงใหญ่ มีรูปสลักหินห้าร้อยชาติ แต่ถูกทำลายด้วยคนกลุ่มหนึ่ง
  12. เล่าเรื่องสมเด็จพระมหาเถรฯ มาจากลังกา ซ่อม “พระเก้าท่าน” แล้วประดิษฐานพระธาตุ “สองลูก” จากลังกาลงที่นั้น
  13. เล่าเรื่องสมเด็จพระมหาเถรฯ เมื่ออยู่ในลังกา ได้ซ่อม “มหิยังคณมหาเจดีย์” แล้วมีพรรณนาปรากฏการณ์พระธาตุเสด็จปาฏิหาริย์
  14. กล่าวถึง “พระคีวาธาตุ” ที่ลังกากระทำปาฏิหาริย์ให้เห็นชาวสิงหลเคารพนับถือสมเด็จพระมหาเถรฯ ยิ่งนักว่าเป็น “หน่อพุทธางค์”
  15. เล่าเรื่องสมเด็จพระมหาเถรฯ เสด็จไปนมัสการพระมหาธาตุนอก “เมืองกำพไล” ในลังกา

นอกจากเรื่องอื่นๆ แล้ว จารึกวัดศรีชุมยังมีข้อความสำคัญมากเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่แท้จริงของรัฐสุโขทัย คือเรื่องพ่อขุนศรีนาวนำถุม (พระราชบิดาของพ่อขุนผาเมือง)            ผู้สถาปนากรุงสุโขทัยขึ้นมา ไม่ใช่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์อย่างที่ตำราเรียนประวัติศาสตร์ของราชการเขียนไว้

จารึกวัดศรีชุม (จารึกสุโขทัยหลักที่ 2 ผู้รู้บอกว่าสำนวนภาษาเก่ากว่าหลักที่ 1) ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครกรุงเทพฯ
จารึกวัดศรีชุม (จารึกสุโขทัยหลักที่ 2 ผู้รู้บอกว่าสำนวนภาษาเก่ากว่าหลักที่ 1) ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครกรุงเทพฯ

จารึกวัดศรีชุม คืออะไร? อยู่ที่ไหน?

ประวัติศาสตร์แรกสถาปนากรุงสุโขทัย ที่อธิบายมาทั้งหมดได้จากจารึกหลักเดียวเท่านั้น คือจารึกวัดศรีชุม ทำขึ้นก่อนจารึกอื่นใดในกรุงสุโขทัย มีประวัติการค้นพบดังนี้

จารึกวัดศรีชุมตัวอักษรไทย ภาษาไทย ไม่มีปีศักราชระบุไว้ แต่เมื่อพิจารณาจากข้อความบางตอนทำให้เชื่อว่าทำขึ้นหลัง พ.ศ. 1884 และเป็นไปได้ว่าทำขึ้นหลังการได้อำนาจครองรัฐสุโขทัยของพระมหาธรรมราชา (ลิไทย) เมื่อ พ.ศ. 1890

จารึกวัดศรีชุม สลักบนแผ่นหินดินดาน เป็นรูปใบเสมา มี 2 ด้าน (ชำรุดบางแห่ง) สูง 275 เซนติเมตร กว้าง 67 เซนติเมตร แผ่นหินหนา 8 เซนติเมตร

ยังไม่พบหลักฐานพอจะยืนยันว่าแต่เดิมจารึกหลักนี้ตั้งอยู่ที่ไหนแน่ แต่เมื่อ พ.ศ. 2430 ในแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 พลโท พระยาสโมสรสรรพการ (ทัด ศิริสัมพันธ์) เมื่อครั้งยังเป็นหลวงสโมสรพลการ เป็นผู้ค้นพบในอุโมงค์มณฑปวัดศรีชุม เมืองสุโขทัย เลยเรียกชื่อว่า จารึกวัดศรีชุม แล้วถูกจัดเป็นลำดับที่ 2 ในบรรดาจารึกที่พบจากเมืองสุโขทัย จึงได้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า ศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ 2 เพราะต้องให้เป็นรองจากศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ 1 จารึกพ่อขุนรามคำแหง

ผู้อ่านและตรวจสอบจารึกวัดศรีชุมเป็นคนแรกคือ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส ที่เข้ามารับราชการเป็นบรรณารักษ์ใหญ่ หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นสภานายก แล้วพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2467 (ดูในคำนำหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1 สำนักนายกรัฐมนตรี พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ. 2521)

ล่วงมาจนถึง พ.ศ. 2520 หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร เชิญผู้รู้ทางภาษาโบราณร่วมประชุมชำระจารึกวัดศรีชุม เพิ่มเติมจากที่ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ อ่านและตรวจสอบไว้ จนสำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2523 แล้วพิมพ์ออกมาเผยแพร่ เมื่อ พ.ศ. 2523 นั้นเอง

 

[พรุ่งนี้อ่านรัฐสุโขทัยเปลี่ยนนโยบายการเมือง-การค้า ดูจากทิ้งมหายาน เปลี่ยนไปยกย่องเถรวาท]

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image