ไม่ถอยก.ค.ศ.เดินหน้าใช้ ‘ว23’ ปี64  กำหนดอัตราครูตามชั่วโมงการสอน

ไม่ถอย’ก.ค.ศ.’เดินหน้าใช้ว23ปี’64  กำหนดอัตราครูตามชั่วโมงการสอน แจงข้อดีเพิ่มคุณภาพ-ใช้ขอวิทยฐานะ

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เสนอให้ ปรับแก้หลักเกณฑ์ ว23/2563 เกณฑ์อัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา สังกัดสพฐ. ซึ่งจะส่งผลให้จำนวนครูในแต่ละโรงเรียนลดลง ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษา นั้น การคำนวณอัตรากำลังตามเกณฑ์ใหม่นี้ จะมีทั้งโรงเรียนที่ได้อัตราเพิ่มขึ้นและลดลง ซึ่งฝ่ายปฏิบัติอย่างโรงเรียนต้องลงไปดูรายละเอียด ว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าวสอดรับกับข้อกำหนดต่าง ๆ หรือไม่ เช่น ชั่วโมงการสอนของครู ซึ่งมีเงื่อนไขว่า ครู 1 คนต้องสอนไม่น้อยกว่า 18 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หากคำนวณดูแล้วอยู่ในเงื่อนไขก็ถือว่าเป็นไปตามเกณฑ์ แต่ถ้าครูมีชั่วโมงสอนมากกว่านั้น เท่ากับเกณฑ์อัตรากำลังที่ได้รับนั้นไม่เพียงพอ

“หลักเกณฑ์ใหม่นี้ ไม่ว่าจะโรงเรียนขนาดใด ก็ไม่เกี่ยว เพราะคำนวนอัตรากำลังตามชั่วโมงการสอน ถ้ามองว่าแค่ เกณฑ์ใหม่ทำให้อัตรากำลังลดลง คงไม่ใช่เพราะต้องมองที่การทำงาน เพราะต่อไปเกณฑ์การขอมีและเลื่อนวิทยฐานะก็จะสัมพันกับชั่วโมงการสอน ถ้าครูมากแล้วสอนแค่ 10 ชั่วโมง เวลาสอนน้อยก็จะไม่สามารถขอมีและเลื่อนวิทยฐานะได้ ตรงนี้เป็นประเด็นที่ต้องวิเคราะห์ให้รอบด้าน ดังนั้น ต้องลองใช้ดูก่อน จากนั้นทางโรงเรียนและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็ต้องมาวิเคราะห์ ในทางปฏิบัติว่า หลักเกณฑ์นี้มีปัญหาในเรื่องใดบ้าง แล้วค่อยสะท้อนไปที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.)ต้องมีเหตุ มีผลให้เห็นว่า มีความจำเป็นอย่างไรที่ต้องปรับแก้ แต่เมื่อกฎหมายออกมาแล้ว ก็ต้องลองใช้ไปก่อน เพื่อวิเคราห์ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยมองที่คุณภาพการจัดการศึกษาและคุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ” นายอัมพร กล่าว

นายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการก.ค.ศ. กล่าวว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าวยังไม่ได้เริ่มใช้จริง โดยจะเริ่มใช้ปลายปี 2564 โดยใช้ฐานข้อมูลจำนวนครูและนักเรียน ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2564 มาคำนวณ ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าว จะดูอัตรากำลังภาพรวมของประเทศ ที่จะสามารถทำให้เกิดการพัฒนาการจัดการศึกษา ต้องการสร้างสมดุลของขนาดโรงเรียนให้พอเหมาะ ดูแลเด็กได้ทั่วถึง มีจำนวนนักเรียนต่อห้องที่เหมาะสม ขณะเดียวกันก็แกปัญหาโรงเรียนที่ขาดแคลนครู ซึ่งในหลักเกณฑ์ใหม่นี้ ผู้อำนวยการโรงเรียนและรองผู้อำนวยการโรงเรียนต้องมีชั่วโมงสอนด้วย จากเดิมที่ไม่ต้องสอน เพราะต้องการให้ทุกคน ให้ความสำคัญไปที่ห้องเรียน มุ่งไปที่การเรียนการสอน ให้ถึงตัวเด็กอย่างแท้จริง การออกหลักเกณฑ์ครั้งนี้ มองไปที่ภาพรวมของประเทศทั้งระบบ ไม่ได้ออกหลักเกณฑ์เพื่อดูแลฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image