เปิดช่องมหา’ลัยสมัครใจประเมิน อว.แก้กฎหมาย-สมศ.เร่งคลอดเกณฑ์

รายงานหน้า 2 : จับเข่าคุย‘คุณหญิงกัลยา’ ดัน‘โค้ดดิ้ง’ปฏิรูปประเทศ

เปิดช่องมหา’ลัยสมัครใจประเมิน อว.แก้กฎหมาย-สมศ.เร่งคลอดเกณฑ์ เล็งหารือปธ.ทปอ.-ราชภัฏ-ราชมงคล

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา (ศธ.) เปิดเผยความคืบหน้าการสรรหาประธาน และคณะกรรมการรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ว่า ขณะนี้ สมศ.ได้วางระบบประเมินรูปแบบใหม่ ที่เน้นการเข้าไปประเมินอย่างกัลยาณมิตรมากกว่าจะมาจับผิด ขณะนี้มอบหมายให้นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ รักษาการประธานคณะกรรมการ สมศ.ดำเนินการสรรหาประธาน และคณะกรรมการ สมศ.โดยเร็ว ทั้งนี้ มองว่าประธาน สมศ.ต้องมีความสามารถ และเข้าใจงานประเมินคุณภาพรูปแบบใหม่ที่ สมศ.กำลังทำอยู่ เพื่อให้การขับเคลื่อนงานต่างๆ ของ สมศ.เดินหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งตนจะพยายามผลักดันให้ สมศ.ได้ประธาน และคณะกรรมการครบถ้วนโดยเร็วที่สุด เพราะไม่มีมาหลายปีแล้ว

นายเอกชัย กล่าวว่า จะเร่งสรรหาประธาน และคณะกรรมการ สมศ.ให้เสร็จโดยเร็วที่สุด เบื้องต้นทราบว่าการสรรหาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขึ้นอยู่กับการประชุม สมศ.ครั้งต่อไป ที่ประชุมจะมีมติรับรองหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ในการประชุม สมศ.เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมย้ำถึงภาพลักษณ์ใหม่ที่ต้องเป็นมิตร และการประเมินจะเปลี่ยนรูปแบบเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มมากขึ้น นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบว่าคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา (กมอ.) ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ออกประกาศ รับรองให้ สมศ.เป็นหน่วยงานประเมินคุณภาพภายนอกของอุดมศึกษา เพื่อให้การประเมินคุณภาพภายนอกระดับอุดมศึกษาต่อเนื่อง เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และ พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ.2562 ซึ่งขณะนี้ถือว่า สมศ.เป็นหน่วยประเมินเดียวที่ได้รับการรับรองจาก กมอ.

นายเอกชัยกล่าวต่อว่า เมื่อ กมอ.รับรองแล้ว สมศ.พัฒนาเกณฑ์ประเมินให้สอดคล้องกับที่ อว.กำหนด นอกจากนี้จะเชิญประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎ (ทปอ.มรภ.) และประธานที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) มาให้ความเห็นว่าเครื่องมือที่ สมศ.จะประเมินมหาวิทยาลัยนั้นเป็นอย่างไร และควรจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง เพื่อให้การประเมินสอดคล้องกับสิ่งที่มหาวิทยาลัยอยากจะเห็น อย่างไรก็ตาม การประเมินมหาวิทยาลัยต่อไป จะเป็นการประเมินแบบสมัครใจ เพราะเดิมก่อนที่มหาวิทยาลัยจะย้ายมาอยู่ในสังกัด อว.กฎหมายเดิมกำหนดไว้ว่า มหาวิทยาลัยจะต้องได้รับการประเมินภายนอกทุก 5 ปี แต่เมื่อมหาวิทยาลัยอยู่ในสังกัด อว.ได้เปลี่ยนกฏหมายใหม่ให้เป็นการประเมินตามความสมัครใจ

“คาดว่ากระบวนการต่างๆ จะแล้วเสร็จภายใน 60 วัน ส่วนเกณณ์การประเมินที่ สมศ.ใช้ จะต้องเป็นเกณฑ์เดียวกับองค์กรประเมินของนานาชาติ และการประเมินจะต้องประเมินให้สอดคล้องบริบทของแต่ละมหาวิทยาลัย สอดคล้องกับการจัดแบ่งกลุ่มมหาวิทยาลัยที่ อว.กำหนดไว้ 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่มุ่งยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก 2.กลุ่มที่มุ่งยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม 3.กลุ่มที่มุ่งยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ และ 4.กลุ่มที่มุ่งยุทธศาสตร์ด้านการผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาจำเพาะ ดังนั้น การที่ สมศ.เข้าไปประเมินให้มหาวิทยาลัย จะช่วยให้มหาวิทยาลัยเตรียมตัวรับมือการประเมินจากหน่วยงานระดับโลกได้ เหมือนกับการสอบเสมือนจริง ที่ช่วยให้มหาวิทยาลัยรับมือการประเมินของหน่วยงานนานาชาติต่อไปได้” นายเอกชัย กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image