สวทอ.กังวลมหา’ลัยแห่เปิด ปวส.ดึงเด็กเรียนวิชาชีพชดเชยนักศึกษาลด

สวทอ.กังวลมหา’ลัยแห่เปิด ปวส.ดึงเด็กเรียนวิชาชีพชดเชยนักศึกษาลด วอน รมว.ศธ.ใหม่พัฒนาอาชีวะเอกชน

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม นายอดิศร สินประสงค์ นายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สวทอ.) เปิดเผยว่า สวทอ.หวังว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คนใหม่ จะดำเนินการตามนโยบายของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง โดยเฉพาะการพัฒนาอาชีวศึกษาทั้งภาครัฐ และเอกชน เพราะปัจจุบันการพัฒนาอาชีวะยังเป็นแค่นโยบาย และวาทะกรรม แต่ยังไม่เห็นการพัฒนาใดๆ ที่เป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ศธ.กำลังทำให้นโยบายเพิ่มผู้เรียนอาชีวะนั้น พลิกด้าน เพราะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะสร้างห้องเรียนอาชีพ ซึ่งอาจขาดครู เครื่องมือ และขาดความพร้อม อาจเป็นแค่การเพิ่มจำนวนผู้เรียน แต่ไม่ได้เพิ่มคุณภาพ ซึ่งเรื่องนี้ทาง สวทอ.กังวลมาก และจะนำเรื่องนี้เสนอที่ประชุมคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) วันที่ 25 มีนาคม พิจารณา และเสนอแนะต่อไป

นายอดิศรกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ สวทอ.กังวลกรณีที่ขณะนี้มีมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ทยอยเปิดสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง (ปวส.) โดยต้องขออนุญาตใช้หลักสูตร ปวส.ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เข้าใจว่าเพราะมหาวิทยาลัยอยากเพิ่มจำนวนผู้เรียน เนื่องจากปัจจุบันผู้เรียนลดลง แต่กังวลว่ามหาวิทยาลัยจะเข้าใจ มีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนหรือไม่ และกลัวว่าอาจไม่เท่าเทียมในเรื่องครูผู้สอน เพราะครูที่จะสอนในสถานศึกษาสังกัด สอศ.โดยเฉพาะครูวิชาชีพ ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู จึงจะสอนนักเรียนนักศึกษาได้ แต่ถ้ามหาวิทยาลัยสอนระดับ ปวส.ครูผู้สอนจต้องมีใบอนุญาตฯ หรือไม่ และจำนวนการผลิต รวมถึง คุณภาพปลายทางที่จบการศึกษา จะได้มาตรฐานของอาชีวศึกษาหรือไม่

“ผมเห็นด้วยที่จะให้หน่วยงานอื่นๆ ร่วมจัดการเรียนการสอนด้านสายอาชีพ แต่ขอให้มีคุณภาพ ไม่ใช่แค่ต้องการเพิ่มจำนวนผู้เรียนเท่านั้น และขอให้ผลิตตรงกับความต้องการของตลาดด้วย เพราะทุกวันนี้มีหลายหน่วยงานที่จัดการเรียนการสอน เช่น สถานศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) สถานศึกษาสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) สถานศึกษาสังกัดกระทรวงกลาโหม ล่าสุดคือ สพฐ.ต้องการเปิดห้องเรียนสายอาชีพ และมหาวิทยาลัย จึงกังวลเรื่องการผลิตคนที่แต่ละหน่วยงานต่างมุ่งผลิต แต่ไม่สนใจคุณภาพปลายทางจะส่งผลกระทบในอนาคตอย่างไร ซึ่งผมจะนำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุม กอศ.ด้วย” นายอดิศร กล่าว

นายอดิศรกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ อยากให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนใหม่ เห็นความสำคัญของครูอาชีวะเอกชน และช่วยผลักดันให้ครูอาชีวะเอกชนได้รับเงินเดือน 15,000 บาทด้วย เพราะตั้งแต่สถานศึกษาอาชีวะเอกชนย้ายมาสังกัด สอศ. 5 ปี แต่ครูอาชีวะเอกชนยังไม่ได้รับการสนับสนุน และผลักดันให้ได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นเลย ขณะที่ครูเอกชนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กลับได้รับการสนับสนุน และขึ้นเงินเดือนเป็น 15,000 บาท มา 3 ปีแล้ว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image