ฟัน ‘ร.ร.เอกชน’ โฆษณาเกินจริง อ้างเปิดศูนย์เตรียมแพทย์รับ น.ร.

ฟัน ‘ร.ร.เอกชน’ โฆษณาเกินจริง อ้างเปิดศูนย์เตรียมแพทย์รับ น.ร.

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ที่มีนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานว่า ที่ประชุมพิจารณาร่างประกาศ ศธ. เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดทำประกาศการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นของโรงเรียนเอกชน ซึ่งตามที่กฎหมายกำหนด โรงเรียนจะต้องจัดส่งประกาศรายการค่าธรรมเนียมให้ผู้อนุญาตลงนามทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนเปิดภาคเรียนแรกของทุกปีการศึกษา และแจ้งให้ผู้ปกครองทราบล่วงหน้าด้วย แต่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) พบว่าโรงเรียนเอกชนหลายแห่งไม่จัดทำประกาศการจัดเก็บค่าธรรมเนียม แจ้งให้ผู้ปกครองทราบล่วงหน้า และมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่อาจจะเป็นภาระเกินสมควรให้กับผู้ปกครอง โดยในร่างประกาศ ศธ.นี้ กำหนดให้โรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ ประกาศและเผยแพร่การจัดเก็บค่าธรรมเนียมต่อสาธารณะและปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้การทำงานของโรงเรียนและ สช.เป็นระบบมากขึ้น และถ้าโรงเรียนไม่ปฏิบัติตามจะมีความผิด สช.อาจจะสั่งงดรับนักเรียน งดจ่ายเงินอุดหนุนรายบุคคล หรือสั่งเพิกถอนใบอนุญาตได้ โดยที่ประชุมมอบหมายให้ สช.ปรับรายละเอียดในร่างประกาศ ศธ.ใหม่ ทั้งนี้ สช.จะเร่งปรับร่างประกาศฉบับให้เสร็จก่อนเสนอรัฐมนตรีว่าการ ศธ.พิจารณาต่อไป เพื่อให้ทันใช้ในปีการศึกษา 2564

นายอรรถพลกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้แก้ไขระเบียบ ศธ.​ว่าด้วยการกำหนดมาตรการช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนเอกชนเป็นเงินอุดหนุนรายบุคคล (ฉบับที่ …) พ.ศ. … โดยเปลี่ยนการจ่ายเงินอุดหนุนรายบุคคลใหม่ จากเดิมที่ สช.ส่วนกลาง ต้องโอนเงินให้ สช.จังหวัด เพื่อให้ สช.จังหวัดโอนเงินให้โรงเรียนต่อไป ซึ่งกระบวนการเหล่านี้สร้างความล่าช้ามาก จึงแก้ใหม่ให้ สช.ส่วนกลางโอนเงินให้โรงเรียนโดยตรง นอกจากนี้โรงเรียนเอกชนไม่ได้รับความสะดวกในการจ่ายเงินสงเคราะห์ครูเอกชน จะต้องติดต่อธนาคารเพื่อส่งเงินสงเคราะห์ ทำให้ครูจำนวนมากค้างจ่ายเงินสงเคราะห์เพราะไม่อยากไปรอคิวที่ธนาคาร ดังนั้นระเบียบใหม่จึงแก้ไขให้ สช.สามารถหักเงิน ณ ที่จ่ายได้ทันที

“ปีงบประมาณ 2564 มีโรงเรียนเอกชน 39 แห่ง ที่ไม่เคยได้รับเงินอุดหนุนรายหัว มาขอรับเงินอุดหนุนจาก สช. และตามกฎหมายถ้าโรงเรียนเหล่านี้แจ้งข้อมูลให้ สช. ทันก่อนวันที่ 10 มิถุนายน จะได้รับเงินอุดหนุนย้อนหลังตั้งแต่วันเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2564 ซึ่งทำให้ สช.ได้รับผลกระทบในการจัดสรรงบประมาณ เพราะต้องหาเงินจ่ายค่าอุดหนุนรายหัว จำนวน 270 ล้าน ให้กับโรงเรียนเหล่านี้ ดังนั้นจึงกำหนดมาตรการใหม่ว่า ถ้าโรงเรียนยื่นข้อมูลทันภายในวันที่ 10 มิถุนายน สช.จะให้เงินในปีการศึกษาถัดไป และถ้าโรงเรียนยื่นข้อมูลหลัง 10 มิถุนายน จะต้องรอไปอีก 2 ปีการศึกษา จึงจะได้รับเงินอุดหนุนรายหัว” นายอรรถพลกล่าว

นายอรรถพลกล่าวว่า ทั้งนี้ สช.รายงานให้ที่ประชุมทราบถึงผลการดำเนินกิจการของโรงเรียนเตรียมวิทย์พัฒนา เขตคันนายาว กรุงเทพฯ โดยโรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนสามัญ สามารถรับนักเรียนได้ไม่เกิน 250 คนเท่านั้น แต่โรงเรียนกลับโฆษณาว่าโรงเรียนมีศูนย์วิชาการเตรียมแพทย์สู่ระดับอุดมศึกษา จำนวน 5 โครงการ และระบุชัดเจนว่ารับนักเรียนชั้น ม.1-4 ชั้นละ 250 คน รวมแล้วโรงเรียนรับสมัครนักเรียนทั้งหมด 1,000 คน พร้อมกับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการเรียนรายละ 5 แสนบาท เมื่อ สช.ตรวจสอบพบว่าโรงเรียนกระทำผิดกกหมายหลายมาตรา เช่น การโฆษณาเกินจริง ไม่แต่งตั้งครูให้ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นต้น สช.จึงสั่งเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 6 หมื่นบาท

Advertisement

“ขณะนี้ สช.สั่งให้โรงเรียนแก้ไขและระงับการดำเนินการที่ผิดกฎหมายโดยด่วน โดย สช.ได้ส่งหนังสือแจ้งให้โรงเรียนทราบวันที่ 9 มีนาคม ว่าโรงเรียนมีเวลา 30 วันในการแก้ไขปัญหาให้ถูกต้องตามกฎหมาย ถ้าพบว่าโรงเรียนยังดำเนินการผิดกฎหมายอยู่ สช.จะใช้มาตรการรุนแรงมาจัดการ และยืนยันว่าไม่เคยอนุญาตให้โรงเรียนเตรียมวิทย์พัฒนาเปิดสอนหลักสูตรพิเศษ และโรงเรียนนี้ไม่ใช่โรงเรียนพักนอน และจากการที่ลงพื้นที่เยี่ยมนักเรียนในโรงเรียน ก็ไม่พบนักเรียน โรงเรียนก็อ้างว่าได้ฝากนักเรียนไปเรียนที่โรงเรียนดาวนายร้อย จ.สงขลา ซึ่ง สช.ไม่เคยมีระบบการฝากนักเรียนมาก่อน และการกระทำลักษณะนี้ถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งผมมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ติดตามเรื่องนี้แล้ว ”นายอรรถพลกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image