‘ตรีนุช’ รับลูกปรับโครงสร้าง ศธ.ปม ‘วิษณุ’ ชี้แท่งเยอะ-ประสานงานยาก

‘ตรีนุช’ รับลูกปรับโครงสร้าง ศธ.ปม ‘วิษณุ’ ชี้แท่งเยอะ-ประสานงานยาก ลุยเคลื่อน 12 นโยบาย 7 วาระด่วนใน 2 ปี

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า หลังนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแล ศธ.มอบนโยบาย และยุทธศาสตร์ในการปฏิบัติงาน โดยย้ำให้ ศธ.ปฏิรูปการศึกษา โดยเฉพาะการผลักดันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา การกำกับดูแลมาตรฐานทางคุณธรรมจริยธรรมของครูที่ปฏิบัติต่อนักเรียน ทั้งเรื่องการล่วงละเมินทางเพศ ไปจนถึงการใช้ความรุนแรงในสถานศึกษาด้วย ให้ปรับปรุงหลักสูตรให้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ และวิชาหน้าที่พลเมือง รวมทั้ง ให้ปรับโครงสร้าง ศธ.ที่เป็นกระทรวงใหญ่ โดยเป็นกระทรวงที่มีการแบ่งแท่งจำนวนมาก ทำให้การทำงานประสานกันลำบาก สิ่งที่รองนายกฯ แนะนำ จะนำมาปรับใช้กับนโยบาย 12 ข้อ 7 วาระเร่งด่วนของตน และจะหารือผู้บริหารระดับสูง เพื่อนำข้อข้อเสนอแนะของ นายวิษณุมาเป็นส่วนหนึ่งของแผนการทำงานต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า เวลาทำงานของรัฐบาลเหลือ 2 ปี จะขับเคลื่อนงานได้ทันตามที่วางนโยบายไว้หรือไม่ น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า ไม่กังวล ไม่เครียด และเข้าใจว่าระยะเวลาการทำงานเหลือเพียง 2 ปี ดังนั้น จะต้องทำงานตามแนวทาง และตามนโยบายที่วางไว้ โดยจะเร่งขับเคลื่อนงานให้ได้มากที่สุด และไม่ว่าจะขับเคลื่อนสำเร็จได้มากหรือน้อยแค่ไหน ก็ยอมรับผลการทำงานที่ออกมา

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า รองนายกฯ ย้ำการทำงานให้ผลักดันตามนโยบาย 12 ข้อ 7 สาระเร่งด่วนที่ น.ส.ตรีนุช วางไว้ และการทำงานทุกอย่างต้องมีตัวชี้วัดความสำเร็จของนโยบายแต่ละข้อ แต่ละประเด็นด้วย ถ้ามีตัวชี้วัด จะทำให้การทำงานชัดเจนมากขึ้น โดยรองนายกฯ ได้ยกตัวอย่างการทำงาน เช่น การเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ วิชาหน้าที่พลเมือง จะทำอย่างไรที่จะขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม และมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนว่าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดการเรียนการสอนที่เข้มข้น ทำให้นักเรียนเกิดพฤติกรรมรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และทำให้นักเรียนรับผิดชอบต่อหน้าที่ เป็นต้น

“ทั้งนี้ รองนายกฯ ย้ำถึงการพัฒนาเด็กว่าจะทำอย่างไรให้เด็กทุกคนได้ลงมือทำในสิ่งที่ชอบ มีสมรรถนะครบทุกมิติ จับต้องได้ หรือการเรียนรูปแบบ Active Learning ที่เป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้ลงมือกระทำ สพฐ.จะทำอย่างไรให้นักเรียนนำสิ่งที่เรียนไปใช้ในชีวิตประจำวัน นำไปประกอบอาชีพ และต่อยอดนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ ข้อเสนอแนะได้เติมเต็มความชัดเจนในส่วนของการสร้างตัวชี้วัดให้ชัดเจนมากขึ้น ผมจะรับจุดเน้นที่รองนายกฯ และนโยบายของ น.ส.ตรีนุช มาขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรม ตั้งแต่ส่วนกลางจะทำอะไร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จะทำอะไร และระดับโรงเรียนจะขับเคลื่อนงานอะไรบ้าง เพื่อให้เห็นผลงานที่เป็นรูปธรรม และสร้างตัวชี้วัดที่วัดความสำเร็จได้ด้วย” นายอัมพร กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image