สพฐ.สนองนโยบาย ‘วิษณุ’ สร้างความปลอดภัยในร.ร.-เร่งปรับหลักสูตรศึกษา

สพฐ.สนองนโยบาย ‘วิษณุ’ สร้างความปลอดภัยในร.ร.-เร่งปรับหลักสูตรศึกษา

เมื่อวันที่ 7 เมษายน นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า จากที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายโดยเน้นในเรื่องปฏิรูปการศึกษา เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา สพฐ.จึงได้ติดตามข้อมูลเกี่ยวกับการร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้ ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว เตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และนำเข้าประชุมสภาผู้แทนราษฎรในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเรื่องที่เกี่ยวข้องที่ สพฐ. ต้องเร่งดำเนินการคือเรื่องการกำกับดูแลมาตรฐานจริยธรรมของครูที่ปฎิบัติต่อนักเรียน หรือการทำให้โรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดภัยโดยเรื่องของการดูแลเด็กนั้น ต้องดูตั้งแต่ครูกับเด็ก เด็กกับเด็ก ผู้ปกครองกับเด็ก ผู้บังคับบัญชาและผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชา

นายสนิทกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ นายวิษณุได้เร่งให้ดำเนินการปรับหลักสูตร เช่น วิชาประวัติศาสตร์ร่วมสมัย เพื่อจะได้เข้าใจตรงกันว่าไม่ใช่แค่เรียนเรื่องประวัติศาสตร์อย่างเก่า ซึ่ง สพฐ.ก็ได้รับมาดำเนินการและได้หมอบหมายงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแล้ว รวมถึงการเรียนการสอนแบบ Active Learning ซึ่งมีความจำเป็นมาก โดยในขณะนี้ สพฐ.ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดำเนินการพัฒนาครูและผู้บริหารไปส่วนหนึ่งแล้ว โดยมอบหมายให้รองเลขาธิการ สพฐ. จัดทำข้อมูล เพื่อนำเสนอให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคาดว่าจะรวบรวมข้อมูลให้เสร็จภายในวันนี้

“สำหรับเรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เนื่องจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) จะมีการประชุมพิจารณาปรับพื้นที่จังหวัดต่างๆ ให้เป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษ พื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังและพื้นที่ทั่วไปนั้น ขณะนี้เป็นช่วงปิดเทอม แต่อาจจะมีการเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ สพฐ. จึงได้แจ้งไปยังเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) ทั้งหมดของ สพฐ.ให้เข้มงวดกับมาตรการของ ศบค. รวมถึงการเดินทางไปต่างจังหวัด ให้ระมัดระวังและปฎิบัติตามเงื่อนไขของ ศบค. และขอความร่วมมือจากข้าราชการใน สพฐ. ให้ปฎิบัติตามมาตรการ ทั้งเรื่องการเว้นระยะห่าง การสวมหน้ากากอนามัย ที่สำคัญคือการงดเว้นการเดินทางไปในสถานที่เสี่ยง เช่น ผับ บาร์ ขอให้ดูแลตัวเอง เพราะหากติดเชี้อจะต้องกักตัว ทำให้เสียเวลาในการปฎิบัติงาน โดย สพฐ. พร้อมจะปฎิบัติตามมาตราการของ ศบค.อย่างเคร่งครัด” นายสนิทกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า มาตรการความปลอดภัยในโรงเรียนจะมีการจัดตั้งสารวัตรนักเรียนขึ้นมาอีกครั้งหรือไม่ นายสนิทกล่าวว่า ทุกเรื่องที่เกิดขึ้น สพฐ. ได้ดำเนินการออกมาตรการ และคู่มือความปลอดภัย จาก 3 ด้านหลักๆคือ ภัยจากบุคคล ภัยพิบัติ และสาธารณภัย ส่วนสารวัตรนักเรียนนั้น เป็นของสำนักงานปลัดกระทรวงกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) แต่ สพฐ.มีพนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนนักศึกษา(พสน.) ในทุก สพท. ของสพฐ. ดังนั้นทุกเรื่องที่ สพฐ.ได้รับรายงาน จะเป็นกลุ่ม พสน.ที่ลงพื้นที่จัดการปัญหาต่างๆ ซึ่งขณะนี้มีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ เช่น ตำรวจ มูลนิธิต่างๆ รวมถึงนักจิตวิทยา ที่จะเข้าไปดูแลและเยียวยานักเรียน เนื่องจากบางโรงเรียนไม่มีครูที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ในเรื่องการแนะแนวและพูดคุยกับเด็ก โดยพยายามทำให้ครบทุก สพท.เพื่อให้เข้าไปดูแลช่วยเหลือนักเรียนในการเยียวยาสภาพจิตใจ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image