งานวิจัยรองรับ!! นักวิชาการจุฬาฯ เผยมีงานวิจัยหนุน ‘เคลียริ่งเฮาส์’ เป็นระบบสอบเข้ามหา’ลัยที่ดีที่สุด

จากกรณีมีเสียงสนับสนุนการปรับระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ภายหลังที่ประชุมร่วมระหว่างที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) มี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน มีข้อสรุปให้ปรับระบบการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ในปีการศึกษา 2561 โดยระบบใหม่จะจัดช่วงเวลาการสอบเพื่อนำคะแนนไปใช้ในการเข้าเรียนในสถาบันอุดมศึกษา หลังนักเรียนเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ช่วงประมาณกลางเดือนมีนาคม หลังจากนั้นจะเปิดมหกรรมการสอบ ทั้งการสอบวิชาความถนัดทั่วไป (GAT) การสอบวิชาความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ (PAT) และการสอบวิชาสามัญ 9 วิชา ซึ่งเป็นวิชาที่ใช้ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยจะใช้เวลาในการจัดสอบวิชาต่างๆ ประมาณ 6 สัปดาห์ ถึง 2 เดือน หลังจากทราบคะแนนแล้ว จะเปิดรับสมัครเลือกสาขาวิชา และมหาวิทยาลัย ที่ต้องการเข้าเรียนได้ 4 อันดับ เมื่อเด็กเลือกแล้ว มหาวิทยาลัยจะคัดเลือกเด็กตามลำดับคะแนน และแจ้งผลการคัดเลือกกลับมาที่ส่วนกลางเพื่อเข้าสู่ระบบสอบตรงร่วม หรือเคลียริงเฮาส์ ซึ่งจะมีทั้งหมด 2 รอบนั้น

นพ.กำจร ตติยกวี ปลัด ศธ. กล่าวว่า เร็วๆ นี้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการศธ.จะเชิญมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) มาสอบถามความคิดเห็นกรณีที่จะยกเลิกระบบแอดมิสชั่นส์ แล้วเปลี่ยนมาใช้ระบบการรับตรงกลางร่วมกัน ว่ามทร. และมรภ.เห็นด้วยและพร้อมจะเข้าร่วมกับระบบนี้หรือไม่ ส่วนกรณีที่นักวิชาการออกมาระบุว่า มหาวิทยาลัยเป็นนิติบุคคล จึงควรมีอิสระในการคัดเลือกเด็กนั้น คงต้องบอกว่า มหาวิทยาลัยเป็นของรัฐ ไม่ใช่ส่วนบุคคล ดังนั้นการจะดำเนินการอะไร ควรจะนึกถึงประโยชน์ของนักเรียนเป็นหลัก ไม่ใช่คิดถึงแต่ประโยชน์ของตนเอง ซึ่งทำให้เกิดปัญหา ส่วนกรณีที่ผู้ปกครองเสนอให้จัดสอบ GAT/PAT 2 รอบเพื่อไม่ให้นักเรียนเสียโอกาสนั้น ส่วนตัวเห็นว่า นักเรียนมีความรู้อยู่กับตัวอยู่แล้ว จะจัดสอบกี่รอบอาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ขณะเดียวกัน ต้องถามกลับไปว่า หากเปิดให้เด็กสอบ 2 รอบจะกลายเป็นปัญหาทำให้เด็กต้องมาเครียดกับการสอบถึงปีละ 2 ครั้งอีกหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ต้องหารือในรายละเอียดให้รอบคอบก่อน

นายสมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า เท่าที่ได้ฟังเสียงมหาวิทยาลัยในกลุ่มทปอ.ภาพรวมค่อนข้างเห็นด้วยกับระบบดังกล่าว เพราะจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และให้เด็กไม่ต้องวิ่งรอกสอบ โดยระบบนี้จะคล้ายกับระบบเอ็นทรานซ์เดิม เพียงแต่เด็กจะรู้คะแนนก่อน จากนั้นค่อยไปเลือกมหาวิทยาลัย และคณะที่ต้องการเข้าเรียน ขณะที่ระบบเอ็นทรานซ์เดิม เด็กต้องคาดคะเนคะแนนตัวเองแล้วจึงเลือกสมัคร โดยดูคะแนนสูงสุด และต่ำสุด จากปีที่ผ่านๆ มา ซึ่งการที่เด็กรู้คะแนนก่อนถือเป็นเรื่องที่ดีกว่า จะได้ไม่เลือกสะเปะสะปะ ส่วนจะใช้องค์ประกอบใดในการคัดเลือกเด็กเข้าเรียนบ้างนั้น เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาร่วมกัน ส่วนมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงน้อยนั้น ส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะกระทบ เพราะหากเด็กไม่สามารถสอบผ่านเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย หรือคณะ/สาขาที่เลือก ก็จะไปเลือกเรียนใน มรภ. และมหาวิทยาลัยเอกชน เป็นลำดับถัดไปอยู่แล้ว ขณะเดียวกันอัตราการเกิดลดลงในปัจจุบัน จำนวนเด็กที่เข้าเรียนก็ลดลงตามไปด้วย ดังนั้น มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวเน้นเรื่องคุณภาพมากขึ้น

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การนำระบบเคลียริงเฮาส์มาใช้ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เป็นนโยบายที่ดี เพราะตอบโจทย์ได้ในเรื่องจัดระเบียบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนี้เปิดสอบค่อนข้างเสรี หลายสถาบันมองการสมัครสอบเชิงธุรกิจ นอกจากนี้ จากงานวิจัยของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) ได้สำรวจความคิดเห็นเรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของนักเรียน พบว่านักเรียนมีความทุกข์กับระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยมาก และต้องใช้เงินมากมายในการวิ่งรอกสอบ นำมาซึ่งปัญหาเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างรุนแรง เนื่องจากนักเรียนบางคนต้องวิ่งรอกสอบอย่างน้อย 4-6 สนาม ทำให้ค่าใช้จ่ายการสมัครสอบ รวมถึง ค่าเล่าเรียน ค่ากวดวิชา ของนักเรียนมัธยมปลายทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค เฉลี่ยประมาณ 63,000 บาทต่อคน แต่ในกรุงเทพฯ เฉลี่ย 70,000-200,000 บาทต่อคน ซึ่งเป็นภาระต่อผู้ปกครองมาก ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องจัดการโดยใช้ระบบเคลียริงเฮาส์ ให้นักเรียนยื่นคะแนนสอบได้ 2 ครั้ง ระบบนี้ยังมีผลวิจัยรองรับตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย

Advertisement

นายสมพงษ์กล่าวต่อว่า แต่ข้อเสียของระบบเคลียริงเฮาส์คืออาจจะไม่ยั่งยืน เพราะเป็นแค่ผลสรุปของการประชุมเชิงนโยบาย ที่ ทปอ.รับข้อสรุปไปดำเนินการต่อเท่านั้น แต่ข้อสรุปดังกล่าวไม่ใช่กฎหมาย หรือกฎกระทรวงที่ต้องปฏิบัติตาม ที่สำคัญถ้าในอนาคตเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการ ศธ.นโยบายดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงไป ส่วนสมาชิก ทปอ.ที่ร่วมผลักดันนโยบายดังกล่าว อาจไม่ดำเนินการตามก็ได้ เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยมีกฎหมายของตัวเอง หากมีมหาวิทยาลัยใดประกาศรับตรง หรือมีโควต้า ซึ่งตนเชื่อว่ามีแน่นอน ศธ.จะเอากฎหมายใดไปบังคับลงโทษ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยบางส่วนอาจไม่รับนโยบายนี้ เช่น มทร. มรภ. หรือมหาวิทยาลัยเอกชน เพราะปัจจุบันเปิดรับตรงแย่งเด็ก อีกทั้ง เด็กบางส่วนเบนเข็มไปเรียนอาชีวะแทน ศธ.จะตอบโจทย์เรื่องนี้อย่างไร ดังนั้น หากต้องการให้นโยบายนี้ยั่งยืน ต้องออกเป็นพระราชกำหนด หรือกฎกระทรวง ให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งปฏิบัติตาม

“สิ่งที่ผมเป็นห่วงมากที่สุด คือระบบเคลียริงเฮาส์ยังมีข้อถกเถียงสำหรับผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ดังนั้น ทำอย่างไรจะให้เชื่อใจได้ว่าระบบนี้สามารถสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาได้อย่างแท้จริง เพราะเด็กที่อยู่ในส่วนภูมิภาคได้รับโอกาสนี้น้อยมาก ที่สำคัญผู้ปกครองบางกลุ่มที่อยู่ในส่วนกลางอาจไม่พอใจในนโยบายนี้ และอาจออกมาต่อต้าน และผมอยากฝากในส่วนของข้อสอบต้องเป็นข้อสอบเชิงบรรยาย พร้อมดูภูมิหลังการทำกิจกรรมเพื่อสังคมของเด็ก อยากให้มอง GPAX เป็นสำคัญ และอาจต้องลดการสอบ 9 วิชาสามัญลง เด็กจะได้ไม่ต้องบ้ากวดวิชา” นายสมพงษ์กล่าว

น.ส.ถิรวรรณ กลางณรงค์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา (มพ.) กล่าวว่า ทราบรายละเอียดเบื้องต้นว่า ศธ.จะเปลี่ยนวิธีการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาโดยใช้ระบบเคลียริงเฮาส์ หรือระบบรับตรงกลางร่วมกัน โดยให้นักเรียนสอบครั้งเดียว และเมื่อรู้คะเเนนสอบแล้วสามารถเลือกสาขาวิชาที่ต้องการเรียนได้ถึง 4 สาขาวิชา ไม่ต้องวิ่งรอกสอบหลายรอบ ทั้งนี้ ส่วนตัวรู้สึกเห็นด้วยถ้าจะนำระบบนี้มาใช้ เนื่องจากนักเรียนจะได้แสดงศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ เช่น เด็กที่อาศัยอยู่ต่างจังหวัดอยากเรียนคณะที่อยากเรียน ในมหาวิทยาลัยของรัฐ ถ้าใช้ระบบรับตรงกลางร่วมกัน เด็กสามารถสร้างเป้าหมายของตนเองได้ เพราะรู้ว่าคณะที่อยากเรียนต้องสอบได้คะเเนนเท่าไหร่ เป็นต้น ส่วนระบบการรับนักศึกษาที่ใช้ในปัจจุบันนี้ คุณสมบัติที่แต่ละมหาวิทยาลัยสอบคัดเลือก ไม่ได้มาจากความสามารถของเด็กทั้งหมด เพราะมหาวิทยาลัยบางแห่งกำหนดกฎเกณฑ์ และจัดลำดับการคัดเลือกนักศึกษาเอง บางครั้งเปิดรับหลายรอบ จนทำให้เกิดผลเสียตามมา คือมีนักศึกษาล้นมหาวิทยาลัย ดังนั้น หากใช้ระบบรับตรงกลางร่วมกัน จะช่วยลดความแออัดของระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยได้

“ระบบการรับนักศึกษาในปัจจุบัน ข้อดีคือให้สิทธินักเรียนเลือกสอบเข้าหลายมหาวิทยาลัย แต่ข้อเสียคือการวิ่งรอกสอบหลายมหาวิทยาลัย ทำให้ผู้ปกครองต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เช่น หากนักเรียนสอบติดที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ต้องเสียทั้งค่าสมัครสอบ ค่าสัมภาษณ์ และบางมหาวิทยาลัยต้องจ่ายมัดจำค่าลงทะเบียนด้วย มิหนำซ้ำยังต้องเสียค่ามัดจำหอพัก และหากสอบติดในมหาวิทยาลัยที่ดีกว่า ต้องยอมทิ้งค่าใช้จ่ายในส่วนนั้น” น.ส.ถิรวรรณกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image