รายงาน : ไทยดีไอแมชีน รู้ทันสื่อ เว็บไซต์สแกน ‘ข่าวปลอม’

ไทยดีไอแมชีนž รู้ทันสื่อ เว็บไซต์สแกน ข่าวปลอมž
ข่าวปลอมŽ ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบถึงพฤติกรรมของผู้รับสื่อ รวมถึงการปรับเปลี่ยนทัศนคติ ความคิด มุมมองเกี่ยวกับสารต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในสื่อ เรียกได้ว่ามีอิทธิพลทางด้านความเชื่อ ความคิดเห็น จนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้รับข่าวสารในที่สุด ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมควรกำจัด และลดปริมาณข่าวปลอมที่แพร่กระจายอยู่ในสื่อออนไลน์ ที่สื่อต่างๆ สามารถแพร่กระจายและส่งต่อได้อย่างรวดเร็วไร้ขีดจำกัด

ความต้องการแก้ปัญหาข่าวปลอม จึงเป็นที่มาของ โครงการวิจัยการพัฒนาการตรวจจับข่าวปลอมโดยการเรียนรู้ของเครื่องและการตรวจสอบข้อเท็จจริงของประชาชนŽ ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง หน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านความรอบรู้ทางดิจิทัลและการรู้เท่าทันสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ เครือข่ายความร่วมมือการวิจัยระหว่างสถาบัน คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ซึ่งได้รับการสนับสนุนเงินทุนวิจัยจาก กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ตามยุทธศาสตร์การรับมือกับข่าวปลอม

โครงการนี้ได้พัฒนา ไทยดีไอแมชีนŽ (THAI D.I. MACHINE) ที่เป็นเครื่องมือตรวจสอบข่าวปลอม ที่สามารถตรวจวิเคราะห์ข่าวแบบอัตโนมัติ โดยใช้หลักการการตรวจข่าว ด้วยวิธีการสืบค้นข้อมูลสารสนเทศ การประมวลผลภาษาธรรมชาติ และการเรียนรู้ของเครื่อง เพื่อวิเคราะห์ข่าวที่สงสัยว่าจริง หรือปลอม โดยแสดงผล 5 ระดับ คือ ข่าวจริง ข่าวปลอม มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นข่าวจริง มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นข่าวปลอม และข่าวน่าสงสัย

ซึ่งผลการวิเคราะห์ข่าวนี้จะช่วยสนับสนุนการตัดสินใจ ตอบสนองต่อข่าวปลอมของประชาชน ช่วยลด หรือชะลอการส่งต่อข่าวปลอม เป็นกลไกที่จะช่วยหยุดยั้งการแพร่กระจาย และเพิ่มความสามารถด้านการรู้เท่าทันข่าวปลอมของประชาชน

Advertisement

นายปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า นวัตกรรมเว็บไซต์ตรวจสอบข่าวปลอม ไทยดีไอแมชีน เป็นนวัตกรรมที่ถูกทำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาข่าวปลอมในระดับตัวบุคคล เป็นการพัฒนาเครื่องมือที่ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ในการจัดการกับข่าวปลอมได้ด้วยตนเอง ถือเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางเทคโนโลยีที่ประชาชนสามารถใช้ตรวจสอบข่าว หรือเนื้อหาที่สงสัยว่าจริงหรือเท็จ เพื่อให้ได้ผลการตรวจสอบที่นำมาใช้ประกอบการตัดสินใจ และรับมือกับข่าวปลอมอย่างเหมาะสม ช่วยเสริมสร้างความสามารถของประชาชนในการจัดการกับข่าวปลอมบนสื่อออนไลน์ มีทักษะและความสามารถในการรับข่าวสารอย่างปลอดภัย และได้ประโยชน์ ช่วยลดปัญหาที่จะเกิดจากข่าวปลอมในสังคมได้

ด้าน นางวรินรำไพ ปุณย์ธนารีย์ รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า ทุกคนต่างเคยเผชิญกับปัญหาข่าวปลอมบนสื่อออนไลน์ กองทุนฯ จึงกำหนดให้ปัญหาข่าวปลอมบนสื่อ เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องแก้ไขมาตั้งแต่ปี 2562 โดยจัดสรรเงินทุนสนับสนุนโครงการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาข่าวปลอมอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน รวมถึงการสร้างระบบ แหล่งข้อมูล เครื่องมือเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง เว็บไซต์ตรวจสอบข่าวปลอมไทยดีไอแมชีนถือเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จ มีผลงานในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาข่าวปลอมได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างนิเวศสื่อที่ดีให้กับสังคมไทยได้ ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึง เข้าใจ และฉลาดใช้สื่ออย่างปลอดภัย

Advertisement

การใช้งานเว็บไซต์ตรวจสอบข่าวปลอม ไทยดีไอแมชีนŽ ผู้ใช้งานต้องพิมพ์ คัดลอกคำ หรือข้อความข่าวที่สงสัย วางลงในกล่องข้อความ และกดปุ่มคำสั่งตรวจสอบ เว็บไซต์จะแสดงผลการตรวจสอบให้ทราบว่าเป็นข่าวจริง หรือข่าวปลอม ซึ่งการตรวจสอบข่าวจะใช้วิธีการสืบค้นข้อมูลสารสนเทศจากข้อมูลขนาดใหญ่บนอินเตอร์เน็ต โดยนำข้อมูลข่าวที่ต้องการสืบค้นไปวิเคราะห์ ด้วยวิธีการประมวลผลภาษาธรรมชาติ พร้อมกับวิเคราะห์คำ ข้อความ ประโยค และวัดความคล้ายของข้อมูลข่าว

นอกจากนี้ มีเมนูให้ใช้งานเพิ่มเติม คือ เมนูข่าวที่มีการพิสูจน์แล้วว่าเป็นข่าวปลอม ซึ่งได้รวบรวมข่าวปลอมไว้ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ และเมื่อเลื่อนลงมาด้านล่าง จะมีเมนูข่าวจริงที่มีความใกล้เคียง และมีความเกี่ยวข้องกับข่าวที่ผู้ใช้งานทำการค้นหา รวมถึงเมนูข่าวที่ผู้ใช้งานตรวจสอบล่าสุด ซึ่งจะแสดงในประวัติการตรวจสอบข่าว

นายพนม คลี่ฉายา หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้านความรอบรู้ทางดิจิทัลและการรู้เท่าทันสื่อ (DIRU) คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การใช้งานเว็บไซต์ตรวจสอบข่าวปลอม จะสามารถกระตุ้นให้ประชาชนมีวิจารณญาณในการเปิดรับข่าวสารที่มีทั้งจริงและเท็จ โดยนำข่าวมาตรวจสอบก่อนส่งต่อ ซึ่งจะช่วยชะลอและลดการแพร่กระจายของข่าวปลอม นำไปสู่การสร้างพฤติกรรมการตรวจสอบข่าวบนสื่อออนไลน์

คนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย มีพฤติกรรมของการแชร์และส่งต่อข่าวปลอมทั้งหมด แต่ปัจจัยและเหตุผลของการส่งต่อข่าวนั้น มีความแตกต่างกัน เช่น ผู้สูงอายุ จะส่งต่อข่าวเพราะเป็นห่วงคนในครอบครัว คนวัยหนุ่มสาว จะส่งต่อข้อมูลข่าวสารเพราะตรงกับความเชื่อ ความชอบ และกระแสสังคม ทั้งหมดล้วนแต่ทำให้ข่าวปลอมแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้คนมีความคิด และค่านิยม ตามประเด็นของข่าวปลอมนั้นๆ จนทำให้พฤติกรรมเกิดความเปลี่ยนแปลง โครงการนี้จึงเน้นเรื่องการทำให้ผู้รับสารมีวิจารณญาณในการอ่านข่าว และมีการเช็กข่าวก่อนแชร์ข่าวสารออกไปŽ นายพนมกล่าว

นายพนม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ ต้องปรับปรุง และพัฒนาเว็บไซต์ให้มีความสามารถในการตรวจสอบรูปภาพ เพราะปัจจุบันรูปภาพสามารถใช้เทคนิคต่างๆ ในการตัดต่อ จึงต้องมีเครื่องมือที่สามารถตรวจจับ และบอกได้ว่ารูปภาพที่ปรากฏในสื่อมีการตัดต่ออย่างไรบ้าง ซึ่งถือว่าเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ และมีความยากในเวลาเดียวกันที่จะต้องพัฒนาเครื่องมือให้ฉลาดมากขึ้น

ส่วนการพัฒนาจากเว็บไซต์เป็นแอพพลิเคชั่นในอนาคตนั้น มีความเป็นไปได้ ซึ่งการวิจัยต่อไปจะมุ่งพัฒนาให้เว็บไซต์ได้เรียนรู้จนมีความแม่นยำขึ้น ด้วยการพัฒนาระบบการตรวจสอบให้แม่นยำ และก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของข่าวปลอม รวมถึงพัฒนาความสามารถขั้นต่อไปสู่การทำให้เว็บไซต์มีความเข้าใจข่าวปลอมมากขึ้น สามารถคิดวิเคราะห์ และเข้าใจบริบทของข่าวปลอมได้เช่นเดียวกับผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งŽ นายพนม กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์ตรวจสอบข่าวปลอม ไทยดีไอแมชีนŽ นับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ช่วยพัฒนาสังคมได้อย่างยั่งยืน เพราะข่าวสารมีอิทธิพลสำคัญที่สามารถขับเคลื่อนสังคมได้ การมีเครื่องมือในการคัดกรองข่าวสาร จึงถือเป็นประโยชน์ในการสร้างทัศนคติและพฤติกรรมที่ดีของคนในสังคม
พัชรินทร์ คำเปรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image