ถกความเป็นไปได้ของการควบคุม (เมท) แอมเฟตามีน

ภายหลังจากที่พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดการประชุม เรื่อง “บูรณาการควบคุม (เมท) แอมเฟตามีนอย่างสร้างสรรค์และนวัตกรรมยุติธรรมตามร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด” โดยย้ำชัดถึงการย้าย (เมท) แอมเฟตามีนจากที่เคยถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรงในประเภท 1 ไปอยู่ในประเภท 2 ของวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พร้อมเดินหน้าใช้มาตรา 44 เสนอมาตรการ “ลดอันตรายจากยาเสพติด” สั่งปปส.ยกเลิกสินบนรางวัลนำจับ หนุนกระทรวงสาธารณสุขทำความเข้าใจประชาชนผลิตยาบ้า 50 สตางค์แทนการปราบ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2559 ณ โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว กรุงเทพ ฟอร์จูนนั้น

เมท2

ในวันที่สองของการประชุม (30 สิงหาคม 2559) ซึ่งเป็นการเสวนาในหัวข้อ “ความเป็นไปได้ต่อบูรณาการควบคุม (เมท) แอมเฟตามีนอย่างสร้างสรรค์และนวัตกรรมยุติธรรมตามร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด” จากมุมมองของประเทศไทย อันประกอบไปด้วยวิทยากรจากหลากหลายสาขาวิชา มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานด้านยาเสพติด อาทิ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เสนอแนวคิดตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองเปรียบเทียบผลก่อนและหลังกรปรับย้ายบัญชียาเสพติด สำหรับการทำความเข้าใจกับประชาชนจำเป็นต้องใช้เวลาและดำเนินการไปควบคู่กันอย่างมีศาสตร์และศิลป์ ตรวจสอบแนวร่วมดำเนินการ เช่น กระทรวงสาธารณสุขว่ามีความพร้อมหรือไม่

เมท4

Advertisement

นายอธิคม อินทุภูติ เลขาธิการศาลยุติธรรม เผยความในใจของคณะผู้พิพากษาว่า โทษในคดียาเสพติดที่ตั้งไว้สูงนั้น ท่านผู้พิพากษาก็ไม่ได้สบายใจ หลายท่านก็รับไม่ได้ แต่ศาลคือปลายทาง ที่จะช่วยได้คือการหาเหตุโดยดูพยานหลักฐานโจทย์ว่ามีข้อสงสัยหรือไม่ มาตรการแทนการลงโทษ หนึ่งในโปรตุเกสโมเดล ถือว่าดีกว่าการถูกตีตราซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการกลับตัวเป็นคนดีสู่สังคม เราจำเป็นต้องใช้เวลาอีกพอสมควรที่จะทำความเข้าใจและปรับทัศนคติของคนในสังคมได้

ด้าน นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คาดว่าการปรับบัญชียาเสพติดและการจัดทำประมวลร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด จะช่วยลดจำนวนผู้ใช้ (เมท) แอมเฟตามีนลง ยกตัวอย่างกรณีก่อนปี พ.ศ.2539 ก่อนจะมีการย้ายให้ยาบ้ามาอยู่ประเภท 1 เทียบเท่าเฮโรอีนนั้น คนจำนวนไม่มากก็เคยใช้ยาบ้า หรือยาขยัน ยาม้า มาก่อน แต่เมื่อยิ่งปราบ จำนวนก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น ผมมีความยินดีที่นพ.เจตน์ได้ไปดูงานเรื่องนี้มา และได้อธิบายให้ท่านพลเอกไพบูลย์ได้เข้าใจ แต่ก็มีคำถามว่า หากยาบ้าราคาถูกลง ท่านจะมีความกังวลใจหรือไม่ว่าลูกหลานจะเข้าถึงยาง่ายขึ้น และผมเสนอว่าในเวลาที่มีการประชุม ควรเปิดประเด็นด้วยราคายาก่อน

เมท5

Advertisement

นายนเรศ สงเคราะห์สุข นักวิชาการอิสระ ได้กล่าวอย่างปลื้มปิติว่า การดำเนินงานเรื่อง (เมท) แอมเฟตามีน นับจากปีที่แล้วจนถึงปีนี้ ทำให้ผมรู้สึกหัวใจพองโตว่าการปรับบัญชียาเสพติดมีความเป็นไปได้เหมือนกัน เพียงแต่ต้องอาศัยพลังความร่วมมือร่วมใจกัน หากแต่มองว่าโครงสร้างยังเป็นปัญหาอยู่ แม้จะเป็นแนวคิดใหม่ ทำไมอันตรายต่อสังคมต่อสุขภาพ น้อยกว่า การใช้ที่มากกว่า ไม่ได้แปลว่าจะอันตรายน้อยกว่า การแสดงความคิดเห็นโดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์ ไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมที่มีการเรียนรู้ต่ำ ดังนั้นเราต้องร่วมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ให้ได้ ต้องเปิดเวทีแห่งการถกเถียงให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะในเด็ก

ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ จากวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม หยิบยกเอาผลการวิจัย วาทกรรมยาเสพติด ซึ่งเคยได้ดำเนินการให้กับโครงการกำลังใจในพระดำริฯ ซึ่งแสดงตัวเลขเปรียบเทียบต้นทุนของรัฐบาลกับความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจและสังคม เราจะให้ประเทศชาติเสียหายต่อไปหรือจะมุ่งทำวิจัยเพื่อทดสอบแนวคิด นอกจากนี้ได้ฝากความคิดเห็นว่า รัฐบาลควรปรับปรุงกฎหมายยาเสพติด ตั้งแต่การกำหนดนิยามต่างๆ เสียบใหม่ เช่น ผู้เสพ ผู้ค้า ผู้เสพและผู้ค้า ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ฯลฯ ให้ถือว่าผู้เสพเป็นผู้ป่วยที่สมควรได้รับการบำบัด มิใช่การตีตราว่าเป็นอาชญากรเหมือนในอดีต ขอชื่นชมการทำงานของท่านรัฐมนตรีว่าเป็นการใช้ทั้งความรู้และความกล้าหาญทางจริยธรรม ท้าทายความรู้ ความเคยชินเก่า ซึ่งผมไม่เคยเห็นนักการเมืองกล้าทำมาก่อนในรอบ 20-30 ปี และในส่วนของใบกระท่อมซึ่งใช้เป็นยาในวิถีชีวิตของคนไทยในพื้นที่ภาคใต้ สรุปว่าเราต้องกล้าหาญพอว่าเราจะปฏิรูปสังคมไทย แล้วสังคมไทยจะมีสันติสุขมากขึ้น

เมท6

นายกิตติธัช ชัยประสิทธิ์ แสดงทัศนะในมุมมองของบุคคลภายนอกว่า เป็นภารกิจที่รัฐกำลังทำงานกับสื่อและกระแสสังคม การสื่อสารกับสังคมไทยซึ่งมีความละเอียดอ่อน หากมีการสื่อสารที่ผิดพลาดหรือสารไม่สามารถสื่อได้ตามความต้องการของผู้ส่ง อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด เกิดแรงต้านอย่างมาก ดังนั้นจึงควรใช้การสื่อสารเป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจกับสังคม โดยเฉพาะประเด็นที่สังคมให้ความสนใจติดตามเช่นเรื่องนี้ จำเป็นต้องสื่อสารให้ตรง กระชับ ตรงตามวัตถุประสงค์ เช่น เปลี่ยนจากประเภท 1 เป็น 2 ไม่ใช่ซื้อได้เสรี ความยากลำบากจึงอยู่ที่การสื่อสารอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การนำโมเดลจากต่างประเทศมาปรับใช้ ก็ควรให้มีเจ้าหน้าที่และตำรวจเข้าไปดูแลอย่างน้อยครบทุกฝ่าย จึงต้องประสานความร่วมมือกันหลายฝ่าย และประการหลักคือ ทัศนคติของสังคม ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายการทำงานว่าจะทำอย่างไรที่จะลดการตีตรา การสร้างตราบาป การเยียวยาเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแทนการลงโทษอย่างรุนแรง จะสะท้อนว่ารัฐหยิบยื่นความเข้าใจให้กับบุคคลเหล่านั้นมากขึ้น มองผู้เสพว่าเป็นผู้ป่วย มิใช่อาชญากร เพราะหากไม่ปรับแก้จุดนี้ จะเป็นการซ้ำเติม และเพิ่มปมให้เค้ามีโอกาสหวนไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดมากขึ้น

เมท7

จากนั้นในช่วงบ่ายเป็นการแบ่งกลุ่มย่อย 6 กลุ่ม เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ต่อบูรณาการควบคุม (เมท) แอมเฟตามีนอย่างสร้างสรรค์และนวัตกรรมยุติธรรมตามร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดในมิติต่างๆ โดยแบ่งออกเป็นดังนี้ 1.ด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับยาเสพติด: ทักษะสังคมเพื่อลดอันตราย 2.ด้านสังคม 3.ด้านการแพทย์และสาธารณสุข 4.ด้านเศรษฐกิจ 5.ด้านกฎหมายและการบังคับใช้ และ6.ด้านบริบทสากล

เมท3

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image