เรียนไทยได้จีน : นิทานสุภาษิตจีน (220) 成语故事 (二二零)

นิทานสุภาษิตจีน (220) 成语故事 (二二零)

นิทานสุภาษิตจีนที่ “เรียนไทยได้จีน” จะนำเสนอในครั้งนี้คือ 墨守成规/墨守成規  mò shǒu chénɡ ɡuī (มั่ว โฉ่ว เฉิง  กุย) โดย คำว่า 墨 mò (มั่ว) แปลว่า นักปราชญ์มั่วจื่อ (ม่อจื่อ) 守 shǒu (โฉ่ว) แปลว่า รักษา คุ้มครอง 成规/成規 chénɡ ɡuī (เฉิงกุย) แปลว่า กฎระเบียบ วิถีปฏิบัติ เมื่อรวมกันแล้วหมายถึง รักษากฎระเบียบหรือวิถีปฏิบัติอันเดิมอย่างเคร่งครัด จนไม่ยอมเปลี่ยนแปลงใดๆ ซึ่งในความหมายเดิมนั้นสื่อไปในเชิงบวกเท่านั้น ต่อมาก็มีความหมายที่จะสื่อไปในเชิงลบด้วย ซึ่งหมายความว่าคนหัวรั้นที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงใดๆ คนที่ยึดมั่นถือมั่นบางอย่างแล้วไม่ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาหรือกระแสสังคม โดยก่อนแปลต้องดูบริบทของเรื่องด้วยเสมอ   มาดูตัวอย่างจากนิทานสุภาษิตจีนนี้กัน

จีนในยุครัฐศึก 战国/戰國  Zhànɡuó จ้านกั๋ว มีนักปราชญ์ท่านหนึ่งนามว่า ม่อจื่อ (มั่วจื่อ) 墨子Mò zi ซึ่งเกิดมาในยุคศึกสงคราม เขาจึงเห็นสังคมที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายจากศึกสงคราม ความละโมบโลภมากของเหล่าผู้นำ เห็นการขูดรีดประชาชนอย่างหนักจากทางการ ด้วยเหตุนี้ เมื่อเขาเติบใหญ่ขึ้น ด้วยความสามารถและความเพียรของเขา ก็ได้ก่อเกิดหลักความคิดหรือลัทธิแนวม่อจื่อ มีหลักความคิดคือ สันติ ซื่อสัตย์ ประหยัด และต่อต้านการทำสงครามทุกรูปแบบ แนวความคิดของเขานับเป็นหนึ่งในแนวความคิดที่สำคัญของจีน และในการศึกสงครามนั้น ม่อจื่อไม่นิยมให้ยกทัพไปทำศึกรุกรานใคร เขาจึงเป็นผู้มีความสันทัดในเรื่องการเฝ้ารักษาเมือง หรือการตั้งรับนั่นเอง เขามักจะเสนอแผนการรับศึกใหญ่น้อยให้กับรัฐต่างๆ และก็ใช้ได้ผลเสมอ จนชื่อเสียงโด่งดัง

มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งระหว่างที่ม่อจื่อกำลังเผยแพร่ความรู้ตามหลักการของเขาให้กับชาวรัฐฉี 齐国/齊國 Qí Guó อยู่นั้นก็มีข่าวมาว่า เจ้าผู้ครองนครรัฐฉู่ 楚国/楚國 Chǔ Guó กำลังเตรียมทัพเพื่อจะบุกโจมตีรัฐซ่ง 宋国/宋國  Sònɡ Guó เขาไม่รอช้า รีบเดินทางออกจากรัฐฉีไปยังรัฐฉู่ทันที เขาเดินทางนับเดือนกว่าจะมาถึงรัฐฉู่ เมื่อมาถึงรัฐฉู่แล้ว ก็ได้พบกับช่างใหญ่ประจำรัฐนามว่า ลหวี่ปาง 鲁棒/魯棒 Lǔ Bɑnɡ ผู้ออกแบบสร้างอุปกรณ์ที่ใช้ปีนขึ้นกำแพงเมือง เมื่อเขาแจ้งความประสงค์แก่ลหวี่ปางแล้ว ลหวี่ ปาง ก็นำเขาไปพบเจ้าผู้ครองนครรัฐฉู่เพื่อเจรจา ทั้งสองฝ่ายพูดคุยกันอยู่นานยังไม่อาจตกลงกันได้ เพราะเจ้าผู้ครองนครรัฐฉู่ไม่ยอม ด้วยความรู้สึกว่าตนเองจะเป็นผู้ชนะศึกในครั้งนี้ด้วยยุทโธปกรณ์ และเสียดายอาวุธวิเศษพวกนี้ที่อุตส่าห์ให้ลหวี่ ปางประดิษฐ์ขึ้นมา

แต่ม่อจื่อก็พยายามโน้มน้าวเจ้าเมือง ให้พิสูจน์อาวุธเหล่านี้ว่าจะมีประสิทธิภาพเพียงใดในการใช้โจมตีกำแพงเมืองต่างๆ ดังนั้น เจ้าเมืองฉู่จึงสั่งให้จำลองสถานการณ์การรบขึ้น ม่อจื่อเป็นฝ่ายตั้งรับบนกำแพง ลหวี่ปางเป็นฝ่ายบุกโจมตี ผลปรากฏว่า อุปกรณ์ที่ลหวี่ปางประดิษฐ์ไม่ช่วยให้กองกำลังของเขาบุกข้ามกำแพงที่ฝ่ายม่อจื่อใช้ตั้งรับอยู่ได้ ดังนั้น เจ้าผู้ครองนครรัฐฉู่จึงสั่งยกเลิกการยกทัพบุกโจมตีรัฐซ่งไป ทำให้สันติสุขเกิดขึ้นมาได้อีกช่วงเวลาหนึ่ง

Advertisement

(ที่มาภาพ:http://image.baidu.com/search)

ภายหลังต่อมา ผู้คนก็ยกเหตุการณ์ที่ม่อจื่อตั้งรับการบุกของศัตรูจนเอาชนะศัตรูได้นี้ ไปใช้ในจุดประสงค์อื่นแทน โดยความหมายผิดเพี้ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นว่า ใช้พูดถึงคนประเภทอนุรักษ์นิยม คนที่หัวรั้นไม่ยอมฟังใคร หรือไม่ยอมที่จะเปลี่ยนแปลงใดๆ คนที่ยึดมั่นอยู่กับหลักการเดิมๆ โดยไม่ยอมเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

ข้อคิดจากประโยคสุภาษิตนี้

成语比喻:死守老规矩,保守固执,不求改进。

成語比喻:死守老規矩,保守固執,不求改進。

Chénɡyǔ bǐyù: Sǐshǒu lǎo ɡuījǔ, bǎoshǒu ɡùzhí, bù qiú ɡǎijìn.

เฉิงยหวี่ ปี่ยวี่ :  สือโฉ่ว เหล่า กุยจวี่, ป๋าวโฉ่ว กู้จื๋อ, ปู้ ฉิว ก่ายจิ้น

สุภาษิตเปรียบว่า รักษากฎระเบียบเก่าอย่างเคร่งครัด หัวรั้นอนุรักษ์นิยม ไม่ชอบแสวงหาความเปลี่ยนแปลง

ประโยคตัวอย่างที่ใช้สำนวนสุภาษิตนี้ เช่น

现在的社会变化得很快,对于那些墨守成规的人,总是赶不上时代的。

現在的社會變化得很快,對於那些墨守成規的人,總是趕不上時代的。

Xiànzài de shèhuì biànhuà dé hěn kuài,duìyú nàxiē mò shǒu chénɡ ɡuī de rén, zǒnɡ shì ɡǎn bu shànɡ shídài de.

เซี่ยนไจ้ เตอะ เฉ้อหุ้ย เปี้ยนฮว่า เตอะ เหิ่น ไขว้, ตุ้ย ยหวี น่าเซีย มั่ว โฉ่ว เฉิง กุย เตอะ เหริน, จ่ง ฉื้อ ก่าน ปู๋ ฉ้าง ฉือไต้ เตอะ

สังคมปัจจุบันเปลี่ยนแปลงได้เร็วมาก สำหรับพวกหัวอนุรักษ์แล้ว ย่อมจะก้าวไม่ทันยุคสมัย

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image