รายงาน : ถึงเวลา..ยกเครื่อง หลักสูตร ‘ปวศ.-หน้าที่พลเมือง’

ถึงเวลา..ยกเครื่อง หลักสูตร ‘ปวศ.-หน้าที่พลเมือง’

ปัจจุบัน วิชาประวัติศาสตร์ และ วิชาหน้าที่พลเมือง ถูกจัดอยู่ใน กลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ซึ่งทั้ง 2 วิชา ถูกนำมาสอนควบคู่กัน เพื่อปลูกฝังให้คนในสังคมปฏิบัติตามระเบียบ จารีตประเพณี โดยใช้ชุดความคิดที่สอนให้เคารพรัก และภาคภูมิใจในชาติของตนเอง ผ่านการเรียรรู้ในเชิงประวัติศาสตร์ และหน้าที่พลเมือง

ขณะนี้สถานการณ์ของโลก และไทย เปลี่ยนแปลงไป เด็กและเยาวชนที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำกว่าแต่ก่อน มีการเข้าถึงเนื้อหาความรู้ที่ดีกว่า และกว้างขวางมากกว่า ทำให้ทัศนะในการมองสังคม และการเรียนการสอนในห้องเรียนเปลี่ยนแปลงไป เกิดการตั้งคำถามต่อหลักสูตรว่า มีความถูกต้องแม่นยำ มีความเป็นกลาง และความเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับวิชาประวัติศาสตร์ และวิชาหน้าที่พลเมือง ซึ่งส่งไม้ต่อไปถึงเรื่องของความจำเป็นว่าควรจะมี 2 วิชานี้ในการเรียนการสอนหรือไม่

ขณะเดียวกันก็เกิดเป็นแนวคิดที่ว่า หากแยกวิชาประวัติศาสตร์ และวิชาหน้าที่พลเมืองออกมาเป็นวิชาเดี่ยว จะสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และปลูกฝังให้คนในสังคมปฏิบัติตามระเบียบ จารีตประเพณี ได้มากขึ้น

Advertisement

น.ส.ธญาณี เจริญกูล นักเรียนชั้น ม.4 ระบุว่า มีความคิดเห็นที่หลากหลายเกี่ยวกับการยกเลิกวิชาหน้าที่พลเมือง และวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนตัวมองว่าไม่ถึงกับต้องยกเลิก เพราะเป็นวิชาที่จำเป็น ที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับสังคม ซึ่งเป็นสถานที่ที่เด็กต้องโตไป และอาศัยอยู่ในอนาคต แต่วิชาเหล่านี้ต้องสอนเนื้อที่เป็นประโยชน์ สร้างทักษะต่างๆ ให้แก่ผู้เรียนได้ แต่หากเป็นการเรียนการสอนแบบทุกวันนี้ ก็ควรยกเลิก อย่างวิชาประวัติศาสตร์สอนให้เด็กได้เรียนรู้เนื้อหาเพียงด้านเดียว ทำให้เด็กรับสารอย่างจำกัด ไม่ครอบคุม ไม่เปิดกว้าง ไม่ได้ส่งเสริมให้เด็กได้คิด หรือวิเคราะห์ เพียงแต่ส่งเสริมให้ต้องเชื่อ ต้องจำ และนำไปสอบ ทำให้เด็กไม่มีการตระหนักรู้ และคิดวิเคราะห์

น.ส.ธญาณี บอกอีกว่า วิชาหน้าที่พลเมืองก็เป็นวิชาที่มีปัญหาค่อนข้างมากเช่นกัน เพราะเน้นสอน และให้ข้อมูลกับเด็กแบบจำกัด และไม่เปิดกว้าง ทำให้วิชาหน้าที่พลเมือง ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะทำ ส่วนตัวคิดว่าวิชาหน้าที่พลเมืองควรจะสอนให้ผู้เรียนมีทักษะการคิด วิเคราะห์ โดยนำประเด็นทางสังคมมาเป็นหัวข้อในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือเรียนรู้เกี่ยวกับการปกครองในรูปแบบต่างๆ รวมถึง ใช้สื่อการสอนที่มีความสร้างสรรค์มากขึ้น เน้นการพูดคุยระหว่างครูกับนักเรียน และเปิดเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยให้ทุกคนได้ใช้ความคิดของตัวเอง ซึ่งทำให้เด็กได้ทักษะในการคิดวิเคราะห์มากขึ้น

Advertisement

“ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการแยกวิชาประวัติศาสตร์ และวิชาหน้าที่พลเมืองออกมาจากกลุ่มสาระสังคมศึกษาฯ เพราะไม่รู้สึกว่าการแยก 2 วิชานี้ออกมา จะสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ หากต้องการให้เด็กได้รับเรียนรู้ทั้ง 2 วิชานี้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็ควรกำหนดที่หลักสูตรแกนกลางพื้นฐาน กำหนดคาบเรียนในแต่ละสัปดาห์ ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถออกแบบได้ แต่หากมีการแยกวิชาออกมาจริงๆ ก็หวังว่าวิชาประวัติศาสตร์จะลดเนื้อหาลง และเปลี่ยนมาเป็นการพูดคุย วิเคราะห์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์มากขึ้น ดีกว่าให้ครูพูดอยู่หน้าห้อง และให้นักเรียนทำหน้าที่จดจำ และนำไปสอบ” น.ส.ธญาณี กล่าว

ขณะที่ น.ส.สลิณา จินตวิจิต นักเรียนชั้น ม.4 เห็นว่า หากแยกวิชาประวัติศาสตร์ และวิชาหน้าที่พลเมืองออกมาจากกลุ่มสาระการเรียนสังคมศึกษาฯ การเรียนการสอนอาจดีขึ้นในระดับหนึ่ง เนื่องจากในกลุ่มสาระนี้ มีจำนวนวิชาค่อนข้างมาก ทำให้รู้สึกว่าเป็นการมัดรวมกันทุกอย่าง แล้วนำสอนเด็กมากจนเกินไป ในขณะที่เนื้อหาแต่ละวิชาแทบจะไม่เกี่ยวข้องกันเลย

“วิชาหน้าที่พลเมือง ควรเป็นวิชาที่สอนให้ผู้เรียนรู้หน้าที่ของของตนเองในฐานะที่เป็นพลเมืองของสังคม แต่การเรียนการสอนในหลักสูตรของไทยนั้นกลับมีปัญหา เนื่องจากเรื่องที่สอนในโรงเรียน ไม่ตรงกับความเป็นจริงที่อยู่ในสังคม เด็กได้เรียนเรื่องสิทธิ และเสรีภาพ แต่ในทางกลับกัน เมื่อมีการใช้สิทธิ และเสรีภาพในการแสดงออกในเรื่องต่างๆ กลับถูกคุกคาม ยัดเยียดชุดความคิดให้กับเด็ก ในแบบที่ไม่ให้เด็กได้ตั้งคำถาม คิดวิเคราะห์ หรือหาเหตุผล คิดว่าปัญหาเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในตัวรายวิชา แต่อยู่ที่สังคมภายนอกมากกว่า เช่นเดียวกันกับวิชาประวัติศาสตร์ ที่พยายามยัดเยียดชุดความคิดเพียงชุดเดียวให้เด็ก สอนให้ท่องจำและนำไปสอบ” น.ส.สลิณา กล่าว

น.ส.สลิณา บอกด้วยว่า การเรียนการสอนในวิชาประวัติศาสตร์ ควรปรับลดเรื่องความเป็นชาตินิยม และค่านิยมลง จากการเรียนที่ผ่านมา วิชานี้สอนให้ผู้เรียนมองในมุมของคนไทยเพียงด้านเดียว อีกทั้ง ยังแบ่งฝ่ายชัดเจน ซึ่งความจริงอาจซับซ้อนมากกว่านั้น จึงอยากให้วิชานี้เสนอมุมมองในด้านอื่นๆ บ้าง ควรเพิ่มประวัติศาสตร์ในแต่ละท้องถิ่นของผู้เรียนเข้าไป ไม่ใช่แค่เรียนเพียงเนื้อหาที่เป็นส่วนกลางเท่านั้น

ด้านนักวิชาการด้านการศึกษา อย่าง นายสมพงษ์ จิตระดับ มองว่า วิชาประวัติศาสตร์ และวิชาหน้าที่พลเมือง ยังคงมีปัญหาในแง่ของการไม่เปิดกว้าง และมีลักษณะของการสร้างระบบชาตินิยม มีสิ่งที่เรียกว่าหลักสูตรแฝง ซึ่งสอนให้ผู้เรียนรู้สึกว่ามีความขัดแย้งกับฝ่ายตรงข้าม ทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกว่าไม่ได้รู้ข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่ง หรือไม่ได้รับการสอนประวัติศาสตร์ในเชิงเปรียบเทียบ และเชิงวิพากษ์ ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ของโลกเปลี่ยนไปแล้ว หากยังสอนแบบเดิมอยู่ จะทำให้มีปัญหาเรื่องการไม่เคารพในความแตกต่างของกลุ่มชาติพันธุ์ ดังนั้น การเรียนรู้วิชาหน้าที่พลเมืองกับประวัติศาสตร์ ควรต้องนำมาเปิดเผย ชำระ และพูดคุยกัน ถ้ามีเรื่องอะไรเปลี่ยนได้ก็ควรจะเปลี่ยน เพราะการศึกษาประวัติศาสตร์ และหน้าที่พลเมืองควบคู่กันไปในปัจจุบันนั้น ไม่ทันกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เรียกได้ว่ามีความล้าสมัย ตกยุค และไม่ทันกับสิ่งที่เด็กและเยาวชนต้องการ ซึ่งต้องเปลี่ยนแปลงปฏิรูป และแก้ไข

“เด็กต้องการให้ประวัติศาสตร์เข้าถึงได้ สามารถวิเคราะห์ วิจารณ์ เปรียบเทียบได้ จึงควรมีการเรียนการสอนแบบเปิดกว้าง เชื่อมโยง บูรณาการ วิพากษ์วิจารณ์ เปรียบเทียบ และหาบทสรุปร่วมกัน ทำให้วิชาประวัติศาสตร์และวิชาหน้าที่พลเมือง เป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แสดงทัศนคติที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้” นายสมพงษ์ กล่าว

นายสมพงษ์กล่าวทิ้งท้ายถึงเรื่องการแยกวิชาประวัติศาสตร์ และหน้าที่พลเมืองออกมาสอนโดยเฉพาะ ว่าอาจมีเหตุผลเพื่อให้เด็กกลับไปอยู่ในกรอบแนวคิดแบบดั้งเดิม เกิดจากผู้ใหญ่บางคนไม่เข้าใจ และไม่ปรับตัวเข้ากับยุคสมัย กับเด็กและเยาวชนในปัจจุบันที่เข้าถึงการเรียนรู้ที่กว้างกว่า ลึกกว่า มากกว่า และดีกว่า จึงควรแยกวิชา เพิ่มเวลา และสอนให้หนักหน่วงมากขึ้น โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เพราะโลกเปลี่ยนไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องสอนทั้ง 2 วิชานี้ในรูปแบบเดิม แต่ต้องทำให้ทั้ง 2 วิชานี้ เป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนมีความสนใจ โดยที่ไม่จำเป็นต้องยัดเยียด หรือมีความคิดตามที่ผู้ใหญ่กำหนด

ปิดท้ายที่ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ที่ยืนยันชัดเจน ว่าไม่มีการถอดวิชาประวัติศาสตร์ และวิชาหน้าที่พลเมืองออกจากหลักสูตรการศึกษา โดยกำหนดไว้ในกลุ่มสาระสังคมศึกษาฯ ซึ่งกำหนดวิชาประวัติศาสตร์ไว้เป็นการเฉพาะ ให้เรียนตั้งแต่ชั้น ป.1 – ม.6 ในส่วนของวิชาหน้าที่พลเมือง ได้กำหนดชั่วโมงให้เรียนรู้หน้าที่พลเมืองที่นักเรียนต้องปฏิบัติ เรียนรู้รัฐธรรมนูญ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย รวมถึง ส่งเสริมให้ทุกโรงเรียนมีการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ชุมชนที่อยู่ใกล้ตัว ไปจนถึงสังคมในภูมิภาค และของโลก โดยเน้นให้นักเรียนได้จับกลุ่มค้นคว้าวิจัย และอภิปราย

“ทั้งนี้ ในปีการศึกษา 2564 จะส่งเสริมให้ทุกโรงเรียนให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ และวิชาหน้าที่พลเมือง ทั้งด้านคุณธรรม จริยธรรม และพัฒนาสื่อการเรียนให้มีความสร้างสรรค์ และทันสมัยมากขึ้น” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว

เสียงสะท้อนถึงหลากหลายปัญหาที่เกิดขึ้นในวิชาประวัติศาสตร์ และวิชาหน้าที่พลเมือง มาจากหลากหลายมุมมอง แต่ที่เห็นได้ชัดคือหลักสูตรยังไม่เปิดกว้าง และไม่ปรับตัวให้ทันตามยุคสมัย

ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรรับฟังความคิดเห็นของเยาวชน นักวิชาการ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ถือว่ามีความสำคัญ รวมไปถึง การปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับโลกในศตวรรษที่ 21

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image