สะท้อนมุมมอง ‘ตรีนุช เทียนทอง’ ความกดดันบนเก้าอี้รัฐมนตรี

สะท้อนมุมมอง ‘ตรีนุช เทียนทอง’ ความกดดันบนเก้าอี้รัฐมนตรี

กว่า 1 เดือนเต็มที่ “ครูเหน่ง” ตรีนุช เทียนทอง เข้ามารับไม้ต่อเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต่อจาก นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ซึ่งศาลอาญามีคำพิพากษา จำคุกคดีการชุมนุมและบุกรุกสถานที่ราชการและได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งโดยอัตโนมัติ …

ท่ามการเสียงวิพากษ์วิจารณ์เด็กเส้นการเมือง ด้อยประสบการณ์ แถมยังเป็น “รัฐมนตรีหญิง” คนแรกที่เข้ามาคุมบังเหียนการศึกษาของประเทศ หลากหลายคำปรามาสที่ “สาหัสสากรรจ์” และสารพัดปัญหาที่รออยู่หน้ารั้วเสมา!?

เป็นเรื่องน่าสนใจไม่น้อย การพูดคุยในช่วงที่ประเทศกำลังเผชิญกับสถานการณ์วิกฤตจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 จึงเกิดขึ้น แบบเว้นระยะห่างทางกาย แต่พยายามสัมผัสให้ถึงมุมมอง แนวคิด และความเป็น ตรีนุช เทียนทอง ให้มากที่สุด นับจากบรรทัดต่อไป…

“ยอมรับว่า ช่วงแรกก็รู้สึกกดดัน เพราะ ศธ.เป็นกระทรวงสำคัญที่สังคมให้ความคาดหวัง ให้เป็นแกนหลักพัฒนาการศึกษา เพื่อพัฒนาประเทศ แน่นอนว่ามีหวั่นไหว แต่ก็ได้ครอบครัวช่วยเป็นกำลังใจ ที่สำคัญดิฉันเป็นคนที่ศึกษาธรรมะ ทำให้มีสติและสามารถนำหลักที่ได้จากการปฏิบัติธรรมมาใช้ในการทำงาน” เป็นคำตอบของคำถามแรกที่ได้พูดคุยแบบไม่เป็นทางการ

Advertisement

 แม้จะยอมรับว่า ค่อนข้างกดดัน แต่เมื่อเดินหน้าแล้ว จะถอยหลังคงไม่ได้ …

เหตุเพราะการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้ความห่วงใย โดยเฉพาะปัญหาจริยธรรมของนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ที่ต้องเร่งแก้ไข โดยนายกฯมอบนโยบายให้เร่งขับเคลื่อนการเรียนการสอนแบบแอ๊กทีฟเลิร์นนิ่งให้มากขึ้น เพื่อให้เด็กได้ฝึกคิด วิเคราะห์และแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง รวมถึงผลักดันการสอนวิชาประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม

เกิดเป็น 12 นโยบาย และ 7 วาระเร่งด่วน โดยครูเหน่ง เลือก “ชูธง” แก้ปัญหาความปลอดภัยในสถานศึกษา เป็นเรื่องแรก

Advertisement

“อยากจะผลักดันเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษาให้เป็นรูปธรรม เพราะโรงเรียนถือเป็นบ้านหลังที่สองของเด็ก ผู้ปกครองจึงมีความคาดหวังว่า โรงเรียนจะเป็นสถานที่ปลอดภัยทั้งร่ายกายและจิตใจ มากพอที่จะฝากลูกไว้ได้ ดังนั้นเมื่อเข้ามารับตำแหน่งจึงอยากผลักดันเรื่องเหล่านี้เป็นอันดับแรก และเป็นเรื่องที่ต้องทำให้สำเร็จอย่างรวดเร็ว ควบคู่กับการส่งเสริม จริยธรรมของครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งก็เป็นปัญหามากเช่นเดียวกัน”

ขณะที่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาก็ต้องเดินหน้าต่อ ซึ่งเชิงปริมาณ การให้บริการการศึกษาในประเทศค่อนข้างดีมาก ถ้าเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน อย่างระดับประถมศึกษา ศธ. สามารถให้บริการได้กว่า 98-99% มัธยมศึกษาตอนต้น ให้บริการได้กว่า 92% แต่ก็ยังถือว่าไม่ครอบคลุมทั้ง 100% ดังนั้นจึงต้องพัฒนาเพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสได้รับการศึกษาภาคบังคับทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ทั้งกลุ่มที่มีภาวะบกพร่องทางร่างกายและสมอง เด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร และขาดแคลนทุนทรัพย์ เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาลงรายละเอียดพบว่า สัดส่วนครูต่อนักเรียน เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญที่ต้องปรับปรุงเพื่อให้สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ โดยปัจจุบันอัตราส่วนครูต่อนักเรียนอยู่ที่ 1:18 จากตัวเลขอาจดูว่าไม่เป็นปัญหา แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่า การบรรจุแต่งตั้งยังมีการกระจุกตัว ในโรงเรียนขนาดใหญ่และขนาดกลาง แต่ไม่กระจายลงไปในพื้นที่ห่างไกลซึ่งมีความต้องการอย่างแท้จริง ขณะที่เงินอุดหนุนรายหัวที่ได้รับในปัจจุบัน ก็ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ เพราะไม่ได้รับการปรับเพิ่มมานานกว่า 10 ปี

ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไข แม้จะอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แต่การศึกษาก็ต้องขับเคลื่อนต่อไป …

 ภาวะวิกฤตนี้ รัฐมนตรี “สาว สาว สาว” จึงต้องจับมือกันให้แน่น ทั้ง ครูเหน่ง ตรีนุช, ครูกัลยา โสภณพนิช และ “ครูพี่โอ๊ะ” กนกวรรณ วิลาวัลย์

เพราะแม้ว่า ประเทศจะผ่านพ้นยุคเจ้าขุนมูลนายมาไกลแค่ไหน แต่ความเชื่อมั่นในศักยภาพของ “ผู้หญิง” ยังหนีไม่พ้นหลังบ้านที่แม้จะเก่งและแกร่งเพียงใดก็ไม่อาจสร้างความเชื่อมั่นให้สังคม …

ครูเหน่ง ยิ้มแทนคำตอบ ก่อนบอกว่า ไม่ได้คิดเช่นนั้น แต่กลับมองว่า การที่มีทีมรัฐมนตรี ศธ.เป็นผู้หญิงทั้ง 3 คน ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในการสร้างความเชื่อมั่นหรือ “TRUST” ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นคำจำกัดความในการทำงานของ ศธ. ช่วยกันสามประสาน เป็น “จุดแข็ง” ที่จะทำให้สังคมเกิดความเข้าใจ การขับเคลื่อนการศึกษาของประเทศในทุกมิติ เพราะการดูแลการศึกษาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะไม่ใช่แค่เรื่องเชิงนโยบายเท่านั้น แต่ต้องดูแลในเรื่องความปลอดภัย ทั้งสภาพร่างกาย จิตใจ รวมถึงคุณภาพชีวิตของครู นักเรียนและบุคลากรทางการศึกษาด้วย ที่สำคัญถือเป็น

โชคดีที่ได้ร่วมกับรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ทั้ง 2 คน ส่วนตัวเคยร่วมงานคุณหญิงกัลยา เห็นความทุ่มเท ทำให้ชื่นชมการทำงาน โดยเฉพาะเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ ส่วน “มาดามโอ๊ะ” ไม่ใช่ใครอื่น
แต่เป็นคนบ้านใกล้เรือนเคียง อยู่จังหวัดติดกัน ครอบครัวมีความสนิทสนม เมื่อได้ร่วมงานกับทั้ง 2 คน ก็คิดว่าไม่มีปัญหาแน่นอน

ส่วนนโยบายการศึกษาของ นายณัฏฐพล นั้น มีหลายเรื่องที่ดีและพร้อมสานต่อ อย่างแผนบูรณาการศึกษาจังหวัด ที่ผลักดันให้แต่ละพื้นที่ มีโรงเรียนคุณภาพชุมชน และโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง เพื่อแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ที่สำคัญถ้า ศธ.สามารถสร้างโรงเรียนคุณภาพได้สำเร็จ ชุมชนนั้นๆ ก็จะได้รับการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนได้รวดเร็ว

“ขอให้โรงเรียนทุกแห่งเข้าใจด้วยว่า โครงการที่จะทำนี้ไม่สามารถพัฒนาโรงเรียนไปพร้อมกันได้ จำเป็นต้องมีโรงเรียนนำร่อง เพื่อที่จะนำนโยบายลงไปปฏิบัติ ให้ประชาชนได้เห็น จับต้องได้ และเร่งปรับเปลี่ยนเมื่อเจอปัญหาต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางพัฒนาในอนาคต ยืนยันว่า จะไม่ทอดทิ้งโรงเรียนไว้ข้างหลัง”

ทั้งหมดที่ว่ามา ถือเป็นทิศทางการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่เฉพาะหน้ายังมีปัญหาที่รอการตัดสินใจ หนีไม่พ้นการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่กระทบกับการเรียนการสอนมานานเกือบ 2 ปี ระลอก 3 แม้ ศธ.จะยังให้คงเปิดภาคเรียนไว้ เป็นวันที่ 17 พฤษภาคม แต่ในความแน่นอน ยังอาจมีความเปลี่ยนแปลงการ เตรียมแผนสำรองรับมือกับวิกฤตนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน

เรื่องนี้ เสมา 1 ย้ำว่า การจัดการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ และต้องมีการประเมินสถานการณ์ทุกระยะ เบื้องต้นให้เลื่อนการรับสมัครนักเรียนเข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ ม.4 ไปก่อน ส่วนการเปิดภาคเรียนนั้น ยังคงตามกำหนดเดิม แต่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นต้นสังกัดอย่าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ระดมสมอง เพื่อร่วมกันตัดสินใจจัดการศึกษาที่เหมาะสมตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ทั้งการเรียนออนไลน์ เรียนในสถานที่ตั้ง หรือเรียนทางไกลผ่านโทรทัศน์ดาวเทียม ทั้งหมดจะยึดประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับนักเรียนเป็นสำคัญ

 เป็นอันว่า เรื่องนี้ยังต้องรอประเมินสถานการณ์รายวัน …

 แม้จะมีเวลาให้พูดคุยกันได้ไม่นานเท่าที่ตั้งใจไว้ แต่ก็ไม่ถือว่า ทุกนาทีตรงหน้าเสียไปอย่างเปล่าประโยชน์

 “สะท้อนมุมมองความคิด “รัฐมนตรี ศธ.” ที่ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าจะสามารถลบคำสบประมาทที่เกิดขึ้นก่อนเข้ารับตำแหน่งได้หรือไม่ ??

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image