รายงาน : ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ปั้น ‘สัตวแพทย์’ ทันโลกยุคใหม่

รายงาน : ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ปั้น ‘สัตวแพทย์’ ทันโลกยุคใหม่

“ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นองค์กรที่ข้าพเจ้าตั้งใจจัดตั้งขึ้นเพื่อถวาย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตามพระราชปณิธานที่ทรงมุ่งหวังให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ได้มาตรฐาน โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอน และการวิจัยที่จะสร้างบัณฑิต และพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์ สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม ที่มีจิตในการทำประโยชน์ให้ผู้อื่นก่อนคิดถึงประโยชน์ของตัวเอง พร้อมบริการสังคม ด้วยความรู้ความชำนาญ คุณธรรมจริยธรรม จิตอาสา ความมุ่งมั่น และด้วยความเป็นเลิศในวิชาชีพเพื่อทุกชีวิตในสังคม อีกทั้ง เป็นสถาบันที่ให้บริการทางการแพทย์ด้วยมาตรฐานสากล แก่ประชาชนอย่างไม่หวังผลกำไร โดยเฉพาะผู้ที่ยากไร้ และด้อยโอกาส เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทั้งประเทศ”

พระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

จากแนวคิด และพันธกิจดังกล่าว นำมาซึ่งการก่อตั้ง คณะสัตวแพทยศาสตร์และสัตววิทยาประยุกต์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อผลิตสัตวแพทย์ที่มีความพร้อมในการทำงาน ที่สอดคล้องกับการพัฒนาของวิทยาการด้านสุขภาพในโลกยุคศตวรรษที่ 21 รองรับปณิธานของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ต้องการให้บัณฑิตทุกคน เรียนรู้ วิจัย เพื่อสร้างปัญญา และผู้นำทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในระดับนานาชาติ

Advertisement

รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์และสัตววิทยาประยุกต์ และรองอธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ฝ่ายพัฒนาวิทยาเขตและการสัตวแพทย์ บอกเล่าถึงภารกิจของการผลิต “สัตวแพทย์” ให้เท่าทันโลกยุคใหม่ ตามหลักสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีหมอสัตว์ในอนาคต และต้องรีบบ่มเพาะความเชี่ยวชาญ เปิดโอกาสให้ได้เก็บชั่วโมงบินจากประสบการณ์จริง

แม้ว่าปัจจุบันจะผลิตสัตวแพทย์ได้จำนวนน้อย แต่ต้องมีคุณภาพ และแตกต่างอย่างโดดเด่น โดยบัณฑิตสัตวแพทย์จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่จะจบไปสู่สังคม ต้องมีความใฝ่รู้ และคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ และต้องเสียสละ และอุทิศตน เพื่อสังคม และประเทศชาติ

ทั้งนี้ คณะสัตวแพทยศาสตร์ฯ ก่อตั้งเป็นคณะที่ 4 ภายใต้วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ มีความมุ่งหมายที่จะให้เกิดความสมบูรณ์ในการดูแลสุขภาพ เรียกว่า “สุขภาพหนึ่งเดียว” เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันระหว่างสุขภาพคน สุขภาพสัตว์ และสุขภาพสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้แยกกันไม่ได้ การที่จะทำให้สุขภาพคนสมบูรณ์ได้ ก็จำเป็นต้องทำให้สุขภาพของสัตว์สมบูรณ์ด้วยเช่นกัน นับเป็นการสอดรับ และสนองพระปณิธาน ในการกำจัดโรคที่มาจากสัตว์สู่คน รวมถึง การกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทย

Advertisement

รศ.น.สพ.ปานเทพ กล่าวอีกว่า ส่วนแนวทางการเรียนการสอน มีแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาสุขภาพของส่วนรวม โดยมุ่งผลิตสัตวแพทย์ออกไปเพื่อเสริมสร้างการดูแลสุขภาพของคน ผ่านการดูแลสุขภาพสัตว์ที่ดี และสุขภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี ดังนั้น สัตวแพทย์ที่จบไป จะมีความตระหนักในเรื่องนี้ มีความสามารถปฏิบัติงานบูรณาการข้ามศาสตร์ได้ นั่นหมายถึงการทำงานร่วมกับสาขาวิชาอื่นในแง่ของสุขภาพ ตลอดจนมีแนวคิดในเชิงเป็นนักวิจัย เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ ทุกคนยังมีความตระหนักที่รับใช้ประเทศชาติ ท้ายที่สุดมุ่งสร้างคนดี บ่มเพาะคนเก่ง นั่นคือสิ่งที่จะเป็นผลผลิตของคณะสัตวแพทยศาสตร์ฯ แห่งนี้

“สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนสัตวแพทย์ ที่มีความจำเพาะในบางหน่วยงาน หรือบางพื้นที่ เช่น สัตวแพทย์ที่จบไป ต้องทำงานเป็นการใช้ทุนกับหน่วยงานต่างๆ ที่มีความต้องการ จะสร้างสัตวแพทย์ที่ตอบสนองต่อการขาดแคลนที่มีความจำเพาะตามภารกิจของหน่วยงานเหล่านั้น รวมถึง ต้องโดดเด่น และเป็นผู้นำ ที่จะประยุกต์นำความรู้ ความสามารถที่ได้รับจากการเรียน และส่งต่อสิ่งเหล่านั้นสู่สังคมภายนอกได้อย่างเป็นรูปธรรม” รศ.น.สพ.ปานเทพ ระบุ

ปัจจุบันเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 และกำลังเปิดรับนักศึกษารุ่นที่ 2 ปีการศึกษา 2564 เป็นโครงการความร่วมมือกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (โครงการมหาวิทยาลัยมหิดล – วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์) เรียน 6 ปี จะรับทั้งหมด 5 รุ่น แต่จะพัฒนาการเรียนการสอนสัตวแพทย์แนวใหม่ด้วย “หลักสูตรใหม่” เป็นการเรียนแบบต่อยอด คือรับผู้ที่จบจากสาขาวิทยาศาสตรบัณฑิต 4 ปีทั่วไป หรือสาขาอื่นที่มีความเกี่ยวข้อง เรียนต่ออีก 4 ปี ในสาขาวิชาชีพการสัตวแพทย์ หลักสูตรนี้มีเป้าหมายให้ได้รับการรับรองในระดับนานาชาติ โดยยึดเกณฑ์ของประเทศออสเตรเลียเป็นแนวทางในการพัฒนาหลักสูตร จะเริ่มรับนักศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2568

นอกจากนี้ ยังมีโครงการจัดตั้งวิทยาเขตใหม่ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา มีพื้นที่ 240 ไร่ ได้รับมอบจากกรมปศุสัตว์ วิทยาเขตนี้ได้รับพระราชทานนามจากองค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ว่า “วิทยาเขตเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์พนารักษ์ ปากช่อง” มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสัตว์ ดูแลทั้งปศุสัตว์ สัตว์เลี้ยง สัตว์ป่า และสัตว์ทดลอง ชื่อ “โรงพยาบาลสัตว์ศรีสวางควัฒน” เป็นชื่อพระราชทานเช่นกัน ขณะนี้อยู่ระยะการออกแบบ และจะเริ่มการก่อสร้างในปี 2564 โดยจะเริ่มก่อสร้างโรงพยาบาลปศุสัตว์ก่อน ใช้เวลา 2 ปี คาดว่าในปี 2567 วิทยาเขตจะเสร็จสมบูรณ์

ทั้งนี้ อาชีพสัตวแพทย์ยุคใหม่ ในศตวรรษที่ 21 จำเป็นต้องมีความแตกต่าง อย่างแรกสัตวแพทย์ต้องมีความใฝ่รู้ตลอดเวลา ตั้งใจ และสนใจในการติดตามในเรื่องของวิทยาการทางการแพทย์ สัตวแพทย์ และศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ต้องดูให้กว้าง กระทั่งเรื่องสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ต้องมีหูตาที่กว้างไกล นั่นคือความมุ่งหมายของคนดี คนเก่ง ที่สำคัญ ต้องมีความรับผิดชอบต่อตัวสัตว์ และต่อส่วนรวม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image