รายงาน : ส่อง ‘ชุดนักเรียน-ลูกเสือ’ ลดเหลื่อมล้ำใน ร.ร.จริงหรือ ??

รายงาน : ส่อง ‘ชุดนักเรียน-ลูกเสือ’ ลดเหลื่อมล้ำใน ร.ร.จริงหรือ ??

“การศึกษา” นับเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ” ในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ขณะที่การกำหนดให้ “ชุดนักเรียน” มีมาตรฐานกลาง ก็เพื่อสร้างบรรทัดฐาน ความเท่าเทียม และลดความเหลื่อมล้ำ ให้สังคมนักเรียนในสถานศึกษา

อีกทั้ง ยังให้เหตุผลถึงเรื่อง “ความปลอดภัย” หรือการได้รับสิทธิต่างๆ เช่น การได้รับการปกป้องดูแลในฐานะนักเรียน รวมถึง เพื่อประโยชน์ในการประหยัด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และสร้างวินัยให้แก่นักเรียน

ในขณะที่มุมมองความคิดเห็นของเด็กและเยาวชน มองว่าการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำดังกล่าว เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ต่างอะไรกับการซุกปัญหาไว้ใต้พรม อีกทั้ง ยังมองว่าชุดเครื่องแบบต่างๆ ทั้งชุดนักเรียน ชุดเครื่องแบบลูกเสือเนตรนารี และชุดยุวกาชาด ไม่ได้ช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่เป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ปกครอง เพราะชุดเครื่องแบบมีราคาสูง และไม่มีความจำเป็นที่ต้องบังคับให้เด็กทุกคนสวมใส่ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเรียน

น.ส.อันนา อันนานนท์ ตัวแทนกลุ่มเด็กหญิงเฟรม @femministgirls ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ชุดนักเรียน หรือชุดเครื่องแบบต่างๆ ทั้งชุดลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาด ไม่มีความจำเป็น และไม่ควรบังคับให้เด็กสวมใส่ ควรยกเลิกการบังคับ ไม่ใช่ยกเลิกเครื่องแบบ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อเรื่องค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง อีกทั้ง ยังส่งผลในแง่ของเรื่องสิทธิเสรีภาพ เพราะชุดเครื่องแบบเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือให้ผู้มีอำนาจใช้กดทับผู้ที่ด้อยกว่า หรือแม้แต่ในเรื่องเพศ ก็มีการแบ่งแยกอย่างชัดเจน

Advertisement

“ชุดเครื่องแบบต่างๆ คือความเหลื่อมล้ำ ในบางครอบครัวที่มีรายได้น้อย แต่ต้องแบ่งเงินจำนวนหนึ่งไปซื้อชุดเครื่องแบบนักเรียน ทั้งที่จริงๆ แล้ว เด็กสามารถสวมเสื้อผ้าอะไรก็ได้ที่มีอยู่มาเรียนได้ ยังไม่นับรวมชุดเครื่องแบบลูกเสือเนตรนารี และยุวกาชาติ ที่มีราคาแพง อีกทั้ง ยังมีอุปกรณ์อื่นๆ ที่ต้องซื้อเพิ่มอีก ทั้งหมดคือความเหลื่อมล้ำที่ไม่สามารถแก้ได้ด้วยการรับบริจาคชุดเครื่องแบบ หรือบังคับให้ทุกคนใส่ชุดที่เหมือนกันเพื่อแก้ปัญหา แต่แก้ไขได้ด้วยการยกเลิกการบังคับ หากใครประสงค์จะสวมชุดนักเรียน หรือใครประสงค์จะสวมชุดไปรเวท ก็ให้ถือเป็นสิทธิของแต่ละคน วิชาลูกเสือเนตรนารี ควรเป็นหลักสูตรที่สามารถเลือกได้ว่าใครอยากเรียน หรือไม่อยากเรียน โดยไม่มีการบังคับเช่นเดียวกัน” น.ส.อันนา กล่าว

นอกจากนี้ น.ส.อันนายังบอกอีกว่า การสวมชุดเครื่องแบบต่างๆ มีทั้งข้อดี และข้อเสีย ข้อดีที่หยิบยกขึ้นมาแย้งได้ เช่น ชุดนักเรียนเป็นสิ่งที่ยืนยันตัวตนว่าใครเป็นนักเรียน แต่ในขณะเดียวกันบัตรประชาชน หรือบัตรประจำตัวต่างๆ ก็สามารถยืนยันได้เช่นกัน แต่ข้อเสีย กลับมีทั้งความเหลื่อมล้ำ สิทธิเสรีภาพ ไปจนถึงเรื่องการกดทับจากผู้มีอำนาจ เนื่องจากชุดเครื่องแบบถูกนำมาใช้เพื่อแบ่งชนชั้น แค่สีกระโปรง-กางเกงนักเรียน ที่มีทั้งสีน้ำตาล สีดำ หรือสีน้ำเงิน ทำให้เกิดแบ่งแยกได้ ซึ่งไม่ได้ช่วยให้ความเหลื่อมล้ำลดลง

ด้าน นายพีรพล ระเวกโสม ตัวแทนกลุ่มภาคีนักเรียนแห่งประเทศไทย มองว่า ความเหลื่อมล้ำขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน คำถามคือทำไมรัฐบาล และระบบการศึกษาไม่สอนให้คนเคารพคนอื่น และเคารพความแตกต่าง แทนการทำให้ทุกคนเหมือนกัน เพื่อที่จะเป็นข้ออ้างในการลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเพศสภาพ เพศทางเลือก ฐานะ และแนวคิด

Advertisement

“ชุดเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาดนั้น ต้องมองย้อนไปถึงตัววิชา ควรปรับเปลี่ยนจากการบังคับให้ทุกคนเรียน ให้เป็นวิชาเลือกเพิ่มเติมในคาบชุมนุม ซึ่งจะช่วยลดเรื่องค่าใช้จ่ายในการซื้อชุดเครื่องแบบเหล่านี้ได้ หรืออีกข้อเสนอหนึ่งคือ รัฐบาล หรือกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ควรเข้าไปช่วยเหลือ ควบคุมราคา หรือกำหนดให้แจกชุดเครื่องแบบฟรี เพื่อให้ทุกคนเอื้อมถึงมากยิ่งขึ้น” นายพีรพล กล่าว

ปิดท้ายที่ น.ส. สลิณา จินตวิจิต ตัวแทนกลุ่มนักเรียนชื่อ “นักเรียนเลว” เห็นว่า ชุดเครื่องแบบต่างๆ ทั้งชุดนักเรียน และชุดลูกเสือ ไม่ได้มีความจำเป็น เพราะไม่ใช่สิ่งสำคัญในการเรียนรู้ ไม่ว่าจะใส่อะไรมาโรงเรียน ก็สามารถเรียนรู้ได้เช่นกัน การใส่เครื่องแบบทำให้ทุกคนเหมือนกันก็จริง แต่ในทางกลับกัน ก็ทำให้เด็กไม่รู้จักการยอมรับความแตกต่าง โรงเรียนต้องมุ่งสอนให้เด็กเคารพความแตกต่างระหว่างกัน และกัน มากกว่าการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ หรือซุกปัญหาไว้ใต้พรม ด้วยการให้เด็กทุกคนสวมชุดเครื่องแบบที่เหมือนกัน เพื่อลดปัญหาการบูลลี่ และความเหลื่อมล้ำ

“ส่วนชุดเครื่องแบบลูกเสือเนตรนารี อาจประยุกต์เครื่องแบบให้เหลือแค่ผ้าพันคอชิ้นเดียวใส่กับเสื้อผ้าอะไรก็ได้ น่าจะเป็นทางออกดีกว่า ซึ่งจะช่วยลดค่าใช่จ่ายได้ รวมไปถึงตัววิชาลูกเสือเนตรนารีเอง ก็ควรแก้ไขด้วยการยกเลิกการบังคับให้ทุกคนเรียน และควรปรับเป็นวิชาเลือกมากกว่า” น.ส. สลิณา กล่าว

ขณะที่นักวิชาการด้านการศึกษา อย่าง นายอรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การแต่งกายด้วยชุดไปรเวท และชุดเครื่องแบบนักเรียนนั้น มี 2 มุมมองมาตลอด หากพูดถึงชุดเครื่องแบบ บางครอบครัวจะรู้สึกว่ามีข้อดี คือไม่ต้องเสียเงินซื้อเสื้อผ้าหยุมหยิม และง่ายต่อการจัดหาเสื้อผ้า ในขณะที่หลายครอบครัวมองว่าชุดเครื่องแบบมีความยุ่งยากมากกว่า เพราะได้รับแจกฟรีเพียงปีละหนึ่งชุด ผู้ปกครองต้องซื้อเพิ่มอยู่ดี อีกทั้ง ยังต้องคอยซักรีดตลอ ดังนั้น การกำหนดวันให้เด็กได้เลือกใส่ชุดไปรเวทบ้าง น่าจะเป็นตัวเลือกที่ควรเกิดขึ้นได้แล้วในหลายโรงเรียน

“ปัจจุบันหลายโรงเรียนก็เริ่มอนุญาตให้เด็กแต่งกายด้วยชุดไปรเวทแล้ว ซึ่งไม่ได้ส่งผลให้เด็กไม่มีคุณภาพ เด็กยังสามารถเรียนจบ ได้คะแนน มีวินัย สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ และมีวิธีการอยู่ในสังคมได้อย่างปกติ ไม่ต่างกับเด็กที่อยู่ในโรงเรียนที่บังคับให้เด็กแต่งกายด้วยชุดเครื่องแบบ เช่น โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ที่ให้เด็กแต่งชุดไปรเวทไปโรงเรียน พบว่าเด็กไม่ได้แต่งกายหวือหวา เด็กสวมใส่เสื้อกีฬาสี เสื้อยืดสีขาว ซึ่งเป็นเสื้อผ้าธรรมดาไม่ได้เป็นแฟชั่น แสดงให้เห็นแล้วว่าเครื่องแบบไม่ใช่ตัวกำหนดว่าเด็กจะมีวินัย หรือไม่มีวินัย” นายอรรถพล กล่าว

นายอรรถพลยังกล่าวถึงเรื่องความจำเป็นของเครื่องแบบลูกเสือเนตรนารี ว่า ส่วนตัวคิดว่าชุดลูกเสือ ใส่แค่ผ้าพันคอก็เพียงพอแล้ว เพราะในหลายประเทศ ลูกเสือเนตรนารีจะสวมแค่ผ้าพันคอ และใส่วอกเกิ้ล แค่นี้ก็รู้แล้วว่าเป็นลูกเสือเนตรนารี ยิ่งเป็นชุดแบบเต็มยศ ที่มีทั้งวอกเกิ้ลผ้าพันคอ พู่ ถุงเท้าอีกแบบหนึ่ง รองเท้าอีกสีหนึ่ง รวมแล้วราคาแพงมาก ใส่เดินสวนสนามแค่ปีละครั้ง จึงไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ เช่นเดียวกันกับชุดเนตรนารี ซึ่งไม่ได้เป็นชุดที่มีฟังก์ชั่นพิเศษในการใช้งาน จึงไม่สมเหตุสมผลที่จะบังคับให้นักเรียนใส่

“มีความจำเป็นมากแค่ไหนที่โรงเรียนต้องบังคับให้เด็กแต่งกายด้วยชุดเต็มยศทุกสัปดาห์ โรงเรียนควรพูดคุยกับผู้ปกครองว่ามีความพร้อมในการซื้อชุดเหล่านี้หรือไม่ หรือที่จริงควรจะแต่งเฉพาะเด็กที่เป็นกลุ่มกองร้อยพิเศษ ที่ไม่เป็นภาระกับผู้ปกครองมากเกินไป และตัวเด็กเองก็มีความสนใจทำกิจกรรม เพราะหากบังคับให้เด็กทุกคนแต่งกายด้วยชุดลูกเสือเนตรนารี จะเป็นภาระที่ใหญ่เกินไป” นายอรรถพล กล่าว

ทุกวันนี้ ปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ” ยังคงถูกยกขึ้นมาพูดถึงทุกครั้งที่มีเรื่องเกี่ยวกับปัญหาการศึกษา ยังไม่นับรวมปัญหาจาก “ราคา” หรือ “ค่าใช้จ่าย” ที่ผู้ปกครองต้องจ่ายให้กับเครื่องแบบต่างๆ รวมถึง หนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียนการสอน อื่นๆ อีกมากมาย

ต้องจับตาว่า ศธ.จะมีความชัดเจนมากขึ้นในเรื่องนี้อย่างไร และจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ตรงจุด และเด็ดขาดหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image