ทยอยคืนเงินผู้ปกครอง 2 พันล. แห่ปิดกิจการหลังสู้วิกฤตโควิดไม่ไหว

ทยอยคืนเงินผู้ปกครอง 2 พันล. แห่ปิดกิจการหลังสู้วิกฤตโควิดไม่ไหว เอกชนวอน ศธ.หาแหล่งเงินกู้พยุง ร.ร.

นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ระลอกสาม ส่งผลกระทบต่อโรงเรียนเอกชนอย่างมาก เพราะโรงเรียนเอกชนในระบบทั่วประเทศที่มี 3,936 แห่ง ได้แจ้งปิดกิจการที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ไปแล้ว 43 แห่งทั่วประเทศ โดยโรงเรียนที่แจ้งปิดกิจการส่วนใหญ่ไม่มีนักเรียน และไม่รับเงินอุดหนุนรายหัวจากรัฐ โรงเรียนเหล่านี้อยู่ได้จากการเก็บค่าเทอมจากผู้ปกครองเท่านั้น เมื่อเชื้อโควิด-19 ระบาดในประเทศ ส่งผลให้โรงเรียนเหล่านี้สู้ต่อไม่ไหว ส่วนภาพรวมการรับนักเรียนในปีการศึกษา 2564 ในสถานศึกษาสังกัด สช.พบจำนวนนักเรียนที่สมัครเข้าเรียนไม่ลดลง แต่กลายเป็นจำนวนโรงเรียนลดลงแทน เพราะโรงเรียนเอกชนขนาดเล็กบางแห่งตัดสินใจไม่รับนักเรียน และไม่ดำเนินกิจการต่อ

“สาเหตุที่โรงเรียนแจ้งเลิกกิจการกับ สช.เพราะผู้ปกครองค้างค่าเทอมจำนวนมาก และผมได้เน้นย้ำกับโรงเรียนว่าถ้าผู้ปกครองไม่จ่ายค่าเทอม ก็อย่าเอาเด็กมาเป็นตัวประกัน ให้ฟ้องร้องกับผู้ปกครองแทน ทำให้เมื่อนักเรียนจบการศึกษา โรงเรียนต้องออกใบระเบียนแสดงผลการเรียนให้กับนักเรียนทุกคน และโรงเรียนก็ไม่อยากฟ้องผู้ปกครอง ทำให้โรงเรียนแบกรับภาระอย่างมาก เพราะเงินที่ผู้ปกครองค้างจ่าย กลายเป็นศูนย์ทันที ซึ่ง สช.ต้องเร่งช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ด้วย” นายอรรถพล กล่าว

นายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) กล่าวว่า สาเหตุที่โรงเรียนเอกชนเลิกกิจการจำนวนมาก เพราะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 รอบแรก ที่ภาครัฐไม่ช่วยเหลือ แม้จะให้โรงเรียนกู้เงินจากกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบ แต่ไม่ได้ช่วยโรงเรียนมากนัก และถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อ โรงเรียนเอกชนอาจจะแจ้งเลิกกิจการเพิ่มมากขึ้น และเดิมรายได้ของโรงเรียนไม่ได้มาจากค่าเทอม และเงินอุดหนุนรายหัวเท่านั้น ยังได้มาจากการขายของ ขายอาหารในโรงเรียน เพื่อนำมาจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานทำความสะอาด และภารโรง แต่ถ้าเปิดเรียนในวันที่ 1 มิถุนายนแล้ว โรงเรียนต้องจัดสอนออนไลน์ จะทำให้โรงเรียนขาดรายได้ส่วนนี้ไป โรงเรียนอาจต้องเลิกจ้างพนักงานตามไปด้วย

“นอกจากนี้ พบว่าผู้ปกครองค้างจ่ายค่าเทอมจำนวนมาก ทำให้โรงเรียนขาดสภาพคล่อง จากเดิมก่อนที่โควิด-19 ระบาด โรงเรียนขาดสภาพคล่องไปประมาณ 30-40% แต่ปัจจุบันโรงเรียนขาดสภาพคล่องมากกว่า 60% ทำให้โรงเรียนสู้ต่อไปไม่ไหวขอเลิกกิจการกับ สช.จำนวนมาก และในปีการศึกษา 2563 จากผลกระทบโควิดรอบแรก โรงเรียนเอกชนได้คืนค่าธรรมเนียมการเรียนกับผู้ปกครองมากกว่า 2 พันล้านบาทแล้ว จึงอยากให้ภาครัฐหาแหล่งเงินกู้เข้ามาช่วยโรงเรียนเอกชนบ้าง เพื่อให้โรงเรียนมีแรงสู้ต่อไป ซึ่งปัญหาดังกล่าว ผมได้รายงาน น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.รับทราบแล้ว” นายศุภเสฏฐ์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image