เล็งคลอดเกณฑ์ ‘ตั้ง-ยุบ-รวม-เลิก’ โรงเรียน ศธ.ออกกฎกระทรวงให้อำนาจ ‘สพท.-กศจ.’

เล็งคลอดเกณฑ์ ‘ตั้ง-ยุบ-รวม-เลิก’ โรงเรียน ศธ.ออกกฎกระทรวงให้อำนาจ ‘สพท.-กศจ.’ เร่งยกร่างก่อนรับฟังความเห็นทั่ว ปท.มิ.ย.

ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กพฐ.เมื่อเร็วๆ นี้ เห็นชอบอนุมัติรวมสถานศึกษา 5 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนบ้านจำคามตอง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) เชียงราย เขต 2 โรงเรียนวัดศรีปรีดานุเคราะห์ สพป.ลำปาง เขต 1 โรงเรียนบ้านแดนพนา สพป.น่าน เขต 2 โรงเรียนบ้านโนนโพธิ์ สพป.อำนาจเจริญ และโรงเรียนบ้านสุโสะ สพป.ตรัง เขต 1 และเลิกสถานศึกษา 3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนวัดกกสับ โรงเรียนวัดสามแยก และโรงเรียนบ้านหนองผุก

“อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นว่าการจัดตั้ง ยุบ รวม เลิกสถานศึกษา อำนาจในการยุบ รวม เลิกสถานศึกษา เป็นอำนาจของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา แต่ที่เป็นปัญหา และทำให้มีอุปสรรคมาตลอด คือตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่าด้วยการจัดตั้ง รวม หรือเลิกสถานศึกษา พ.ศ.2550 ในการรวมสถานศึกษา ในระเบียบไม่ได้กำหนดให้โรงเรียนหลักเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการการศึกษา โดยเฉพาะการรับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียนที่มารวม จึงทำให้เกิดกรณีโรงเรียนที่ถูกประกาศรวมแล้ว ดำเนินการรับนักเรียน และขอยกเลิกการรวมสถานศึกษาในเวลาต่อมา” ดร.เอกชัย กล่าว

ดร.เอกชัยกล่าวต่อว่า ในส่วนของการจัดตั้งสถานศึกษา ก็พบปัญหาเช่นกัน ระเบียบเดิมกำหนดเกณฑ์การจัดตั้งสถานศึกษาโดยยึดเพียงจำนวนนักเรียนที่จะเข้าเรียน โดยไม่ได้กำหนดให้มีแผนการจัดชั้นเรียน ซึ่งทำให้ไม่สามารถทราบ และวางแผนล่วงหน้าได้ ว่าอนาคตจะมีนักเรียนในเขตพื้นที่บริการเข้าศึกษามาก น้อย และคุ้มค่าต่อการลงทุนสร้างสถานศึกษาเพียงใด นอกจากนี้ ยังพบปัญหาการเลิกสถานศึกษา ที่ระเบียบเดิมกำหนดให้สถานศึกษาต้องแจ้งผู้ปกครอง นักเรียน และชุมชน ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 ปี ก่อนวันเปิดภาคเรียนแรกของปีการศึกษาถัดไป ทำให้สถานศึกษาต้องเสียงบในการบำรุงรักษาอาคาร บุคลากรให้ครบกำหนด ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา จึงเสนอให้ที่ประชุม กพฐ.พิจารณาเห็นชอบก่อนครบกำหนดเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งที่ประชุมมองว่าการจัดตั้ง ยุบ รวม เลิกสถานศึกษา ควรมอบอำนาจให้ สพท.และ กศจ.ผู้ที่รู้บริบทของพื้นที่เป็นผู้จัดการ

ดร.เอกชัยกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เพื่อแก้ไขปัญหานี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้หารือที่คณะกรรมกฤษฎีกา ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเห็นว่า อำนาจในการยุบ รวม เลิกสถานศึกษาเป็นของ กศจ.และ สพท.ตามคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 ซึ่งการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ กศจ.และ สพท.จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎกระทรวง ที่ออกตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ ศธ.พ.ศ.2546 เพื่อมอบอำนาจให้ กศจ.และ สพท.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตนได้โดยเร็ว

Advertisement

“ขณะนี้ สพฐ.อยู่ระหว่างปรับปรุงร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการจัดตั้ง ยุบ รวม หรือเลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. … ก่อนจะส่งร่างรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนได้เสีย โดยผ่านเว็บไซต์ หน่วยงานกลาง และการประชุมผู้อำนวยการ สพท.มีประเด็นสำคัญในการรับฟังความคิดเห็น เช่น การกำหนดองค์ประกอบของแผนการจัดตั้งสถานศึกษา การยุบชั้นเรียน การลดระยะเวลาการรวมสถานศึกษา การกำหนดระยะเวลาเลิกสถานศึกษา เป็นต้น คาดว่าการรับฟังความเห็นจะเริ่มในเดือนมิถุนายน และต้นเดือนกรกฏาคม จะสามารถรวบรวมข้อคิดเห็นเสนอรัฐมนตรีว่าการ ศธ.พิจารณาร่าง และส่งสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนการออกกฎกระทรวงต่อไป” ดร.เอกชัย กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image