เปิด 6 เมนู ‘ครูพร้อม’ เว็บไซต์การศึกษา ฝ่ามรสุมโควิด

เปิด 6 เมนู ‘ครูพร้อม’ เว็บไซต์การศึกษา ฝ่ามรสุมโควิด

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ระลอกสาม สร้างผลกระทบกับ การศึกษาไทย อย่างมากจนกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ภายใต้การนำของ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ต้องออกมาประกาศเลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 จากวันที่ 17 พฤษภาคม เป็นวันที่ 1 มิถุนายน

ล่าสุดเลื่อนเป็นวันที่ 14 มิถุนายน แทน

แม้จะเลื่อนเปิดเทอมไปแล้ว แต่ ศธ.ไม่อยากให้เด็กเสียโอกาสในการเรียนรู้ จึงได้ระดมกำลังทุกภาคส่วน เตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอน โดยเน้นย้ำว่าต้องคำนึงถึง ความปลอดภัย ของนักเรียนและครูซึ่ง ศธ.ได้สรุปแผนการทำงานเป็น 2 ระยะ ดังนี้

Advertisement

ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 17-31 พฤษภาคม ศธ.จะจัดกิจกรรมเสริมความรู้ที่น่าสนใจให้กับนักเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษาและประชาชน ผ่านเว็บไซต์ “ครูพร้อม.com” ซึ่งเป็นเว็บกลางที่รวบรวมข้อมูลกิจกรรมจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มาไว้ด้วยกัน

โดยมีคณะทำงานที่คอยกลั่นกรองข้อมูลที่มีประโยชน์ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้ามาศึกษาได้ ให้มีความหลากหลาย เพื่อให้นักเรียน ครู และประชาชนเข้ามาเรียนรู้ได้ทุกเวลา โดยจะเริ่มเปิดใช้งานวันที่ 17 พฤษภาคม เป็นวันแรก

ระยะที่ 2 ตั้งแต่การเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 เป็นต้นไป ศธ.จัดรูปแบบการเรียนรู้ไว้ 5 รูปแบบ คือ On-site เรียนที่โรงเรียน โดยมีมาตรการเฝ้าระวังตามประกาศของ ศบค., On-air เรียนผ่าน DLTV, On-demand เรียนผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ, On-line เรียนผ่านอินเตอร์เน็ต, On-hand เรียนที่บ้านด้วยเอกสาร ซึ่งสถานศึกษาจะมีอิสระสามารถวางแผนการเรียนรู้ตามบริบทของตนได้

ซึ่งผ่านมา 2 วันแล้ว ที่ ศธ.เปิดเว็บไซต์ครูพร้อม น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า ตั้งแต่วันแรก มีผู้เข้าใช้เว็บไซต์ประมาณ 14,000 คน ช่วงแรกคนอาจจะเข้าชมเว็บไซต์ไม่มากนัก เพราะยังไม่รู้จักครูพร้อม จึงอยากให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาช่วยประชาสัมพันธ์เชิญชวนนักเรียนและประชาชนเข้ามาหาความรู้เพิ่มเติมผ่านเว็บไซต์นี้ด้วย

“ปัญหาอุปสรรคคือ ช่วงเวลาในการดำเนินการ แม้ ศธ.จะมีความตั้งใจที่จะจัดทำให้นักเรียน ครู และประชาชนมาหาความรู้เพิ่มเติมผ่านเว็บไซต์นี้ แต่ ศธ.มีเวลาเตรียมตัวและพัฒนาเว็บน้อย เพราะมีเวลาแค่ 3 วัน ในการพัฒนาเว็บเท่านั้น ดังนั้น ทำให้เราต้องทำงานแข่งกับเวลา และต้องใช้ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ และคณะทำงานชุดต่างๆ เข้ามาช่วยกันกลั่นกรองข้อมูลที่มหาศาลมาใส่ในเว็บกลางนี้” น.ส.ตรีนุช กล่าว

น.ส.ตรีนุชกล่าวต่อว่า ส่วนใช้งานเว็บไซต์ครูพร้อม.com นั้น ศธ.ออกแบบให้มีความง่ายต่อการใช้งานโดยบนหน้าเว็บไซต์จะมี 6 เมนู ให้เลือกเรียนรู้ตามความสนใจของแต่ละคน ได้แก่

“อยากเรียน” สำหรับนักเรียนทุกระดับชั้น และผู้สนใจ เรียนวิชาต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดเรียน

“อยากรู้” รวบรวมสื่อและกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ ที่นอกเหนือจากวิชาการ เช่น ความรู้รอบตัว ความรู้นอกตำรา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่มีความหลากหลาย

“อยากดู” เป็นรายการไลฟ์สดที่น่าสนใจ เพื่อเปิดโลกแห่งการเรียนรู้ จากบุคคลที่มีชื่อเสียงในหลายวงการ หลายความคิดมากประสบการณ์

“อยากสอน” เป็นกิจกรรมพัฒนาทักษะทางภาษา การใช้เทคโนโลยี และการจัดการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนในอนาคต

“อยากทำ” เพื่อพัฒนาทักษะส่วนบุคคลพัฒนาทักษะทางอาชีพหรือความรู้เพิ่มเติมที่สามารถเรียนรู้จากการลงมือทำได้ทันที อยากแชร์ นำคลิปที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเรียน การสอน นวัตกรรมใหม่ มาเผยแพร่ในแคมเปญ ครูพร้อมอยากแชร์ Challenge

“ศธ.ได้จัดแคมเปญ ครูพร้อมอยากแชร์ Challenge ขึ้น โดยขอเชิญชวนครูและบุคคลทั่วไปไม่จำกัดอายุ สร้างสรรค์วีดิทัศน์ ความยาว 5-10 นาที มีเนื้อหาสาระสำหรับนักเรียนระดับชั้นใดก็ได้ มีแนวทางการเรียนรู้ที่ดีของตนเองที่ต้องการแบ่งปันแลกเปลี่ยนให้แก่เพื่อนครู และบุคลากรทางการศึกษาสามารถนำไปปรับใช้ โดยอัพโหลดคลิปลงเฟซบุ๊ก พร้อมตั้งโพสต์เป็นสาธารณะ ติดแฮชแท็ก #ครูพร้อมอยากแชร์ ซึ่ง ศธ.จะคัดเลือกคลิปที่เข้าร่วมกิจกรรมมานำเสนอในเว็บไซต์ครูพร้อม” น.ส.ตรีนุชกล่าว

เมื่อถามถึงครูพร้อม ในอนาคตจะเป็นอย่างไร มีการปรับเปลี่ยนรูปต่างจากเดิมหรือไม่ น.ส.ตรีนุชกล่าว่า ต้องดูฟีดแบ๊ก และกระแสตอบรับด้วยว่าเป็นอย่างไร ถ้ามีฟีดแบ๊กดี กลุ่มนักเรียน ครู และประชาชน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของ ศธ.ให้ความสนใจ เข้ามาเรียนจำนวนมาก ศธ.จะทำต่อแน่นอน แต่ขณะนี้ขอประเมินก่อน อย่างไรก็ตาม หากผู้ใช้เว็บไซต์มีความคิดเห็น อยากให้ ศธ.ปรังปรุงอะไร ก็สามารถแนะนำเข้ามาได้ ศธ.พร้อมที่จะรับฟังและนำมาพัฒนาต่อไป แต่จากการสอบถามกลุ่มเป้าหมายของ ศธ. กลับพบข้อเท็จจริงที่น่าตกใจ เพราะนักเรียน และครู ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่ามีเว็บไซต์นี้อยู่

ตัวแทนนักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ กล่าวว่า ทางโรงเรียนไม่เคยแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับเว็บไซต์ครูพร้อม ว่าสามารถเข้าไปศึกษาเนื้อหาวิชา เพื่อเตรียมพร้อมก่อนเปิดเทอมได้ ส่วนการเปิดเว็บไซต์นี้จะน่าสนใจและจะเข้าไปดูหรือไม่นั้น คงตอบไม่ได้ เพราะไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อน อย่างไรก็ตาม ตอนนี้อยู่ระหว่างปิดภาคเรียน ตนเองมีการทบทวนความรู้ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดเทอมวันที่ 14 มิถุนายนนี้อยู่บ้าง

“หากเป็นไปได้ก็อยากให้สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง เพื่อจะได้กลับไปเรียนที่โรงเรียน ได้เจอเพื่อนๆ และครู เพราะจากการเรียนออนไลน์ที่ผ่านมา ยอมรับว่ารู้สึกไม่ชอบเพราะค่อนข้างน่าเบื่อ แต่เมื่อโควิด-19 ยังระบาดอยู่ก็คงเลี่ยงไม่ได้ ที่เปิดเทอมนี้คงต้องเรียนออนไลน์ต่อไป” ตัวแทนนักเรียนกล่าว

ด้านตัวแทนครูในจังหวัดลำปาง กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ทราบว่ามีเว็บไซต์ครูพร้อมอยู่ ขณะนี้ตนอยู่ระหว่างจัดแผนการสอน และทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และโรงเรียน ไม่ได้บังคับให้ครูต้องเข้ามาดูเว็บไซต์นี้ จึงไม่ค่อยมีคนสนใจหรือทราบว่ามีเว็บไซต์นี้

แม้การตั้งเว็บไซต์ครูพร้อม จะเป็นเจตนาที่ดี เพราะต้องการให้นักเรียนและครู เข้ามาหาความรู้ก่อนเปิดภาคเรียน คำถามที่ตามมาคือ ศธ.จะประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนและครู เข้ามาหาความรู้ในเว็บไซต์มากน้อยแค่ไหน และ ครูพร้อม.com จะมีความยั่งยืนแค่ไหน ที่สำคัญ คือ สิ่งที่ ศธ.ทำอยู่ คุ้มค่ากับงบประมาณหรือไม่

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การนำงบเข้ามาทุ่มจัดทำเว็บไซต์ครูพร้อมจะเป็นการใช้งบที่ถูกทางแล้วหรือไม่

ต้องติดตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image