เอกชนโอดเฉือนเนื้อขึ้น งด.ครู นายกอาชีวะจี้ช่วยด่วนหลังไม่ขยับมา 5 ปี

เอกชนโอดเฉือนเนื้อขึ้น งด.ครู นายกอาชีวะจี้ช่วยด่วนหลังไม่ขยับมา 5 ปี แนะเพิ่มงบรายหัว-มึนตัวเลขรับต่ำเป้า 50%

นายอดิศร สินประสงค์ นายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สวทอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้วิทยาลัยอาชีวะเอกชน ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ระลอกสาม อย่างมาก พบว่าภาพรวมการรับนักเรียนนักศึกษาในปีการศึกษา 2564 มีสมัครเรียนกับวิทยาลัยอาชีวะเอกชนแล้ว บางรายจ่ายค่าเล่าเรียนแล้ว แต่ไม่เรียนต่อ หรือมาขอวุฒิการเรียนคืนเพื่อไปสมัครไปเรียนในสถานศึกษาใกล้บ้าน หรือไปเรียนต่อสายสามัญแทน จากที่สอบถามภาพรวมการรับนักเรียนนักศึกษาของสถานศึกษาอาชีวะเอกชนนั้น ต่ำกว่าเป้าที่กำหนดไว้ 30-40% ขณะที่บางแห่งรับนักเรียนนักศึกษาต่ำกว่าเป้าถึง 50% โดยเฉพาะวิทยาลัยอาชีวะเอกชนในกรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบหนัก เพราะผู้ปกครองไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม เนื่องจากตกงาน จึงต้องกลับภูมิลำเนา นักเรียนนักศึกษาจึงต้องย้ายตามผู้ปกครองกลับไปด้วย

นายอดิศรกล่าวต่อว่า วิทยาลัยอาชีวะเอกชนยังมีรายจ่ายที่ต้องดูแลผู้เรียน และครู ในการเรียนการสอนออนไลน์ ยอมรับว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไม่มีใครเข้ามาช่วยเหลือ ครูต้องจ่ายค่าอินเตอร์เน็ตเอง ซึ่งครูสะท้อนปัญหามาว่ามีรายจ่ายที่มากขึ้น ทางวิทยาลัยจะช่วยเหลืออะไรบ้าง วิทยาลัยอาจต้องนำคอมพิวเตอร์ของวิทยาลัยให้ครูทำการเรียนการสอนแทน ส่วนการเปิดภาคเรียน 1 ปีการศึกษา 2564 ที่จะต้องเปิดพร้อมกันในวันที่ 14 มิถุนายน ก็พบปัญหาเช่นกัน เพราะครูบางส่วนกังวล และไม่มีความมั่นใจที่จะสอน เพราะยังไม่ได้รับวัคซีน จึงอยากขอความอนุเคราะห์จากศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับครูด้วย

“ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจุบัน อาชีวะเอกชนยังไม่เคยได้รับการเยีวยา หรือการดูแลจากรัฐแม้แต่บาทเดียว อย่างปีที่ผ่านมา ที่รัฐกำหนดให้สถานศึกษาต้องทำฉากกั้น และที่ล้างมือให้กับผู้เรียน ซึ่งรัฐไม่ได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายเลย วิทยาลัยรับผิดชอบทั้งหมด ในปีนี้ถ้ารัฐเข้ามาช่วยเหลือ จะแบ่งเบาภาระให้วิทยาลัยเอกชนอย่างมาก โดยอาจช่วยสนับสนุนงบประมาณฉุกเฉินช่วยเหลือ เพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวของนักเรียน 100 บาท ซึ่งวิทยาลัยจะนำเงินส่วนนี้ไปเตรียมความพร้อมในการเปิดภาคเรียนที่ 1/2564″ นายอดิศรกล่าว

นายอดิศรกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ อาชีวะเอกชนยังพบปัญหาการเบิกจ่ายเงินค่าหนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ก็ได้รับไม่ครบ โดยเฉพาะวิทยาลัยขนาดใหญ่ที่มีนักเรียน นักศึกษาจำนวนมาก เพราะสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ต้องการเอางบส่วนนี้ไปเกลี่ยให้วิทยาลัยขนาดเล็กก่อน ทำให้วิทยาลัยเอกชนต้องออกค่าใช้จ่ายส่วนนี้แทน ที่ผ่านมาผมได้สะท้อนปัญหาให้นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) แล้ว ซึ่งก็รับทราบปัญหา และหาทางช่วยเหลืออยู่

Advertisement

นายอดิศรกล่าวต่อว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อาจทำให้วิทยาลัยอาชีวะเอกชนต้องปิดตัวลงจำนวนมาก อย่างในกรุงเทพฯ เมื่อ 7-8 ปีที่ผ่านมา มีวิทยาลัยอาชีวะเอกชน 80-90 แห่ง แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 60 กว่าแห่ง ถือเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก ดังนั้น ถ้ารัฐไม่ช่วยเหลือ วิทยาลัยอาชีวะเอกชนจะปิดตัวเพิ่มขึ้นแน่นอน

“สวทอ.เข้าใจรัฐบาล เพราะรัฐมีค่าใช้จ่ายอยู่มากแล้ว แต่ขอให้รัฐสนับสนุนงบที่ต้องจ่ายตามระเบียบ และตามกฎหมาย ให้ตรงเวลา และครบถ้วน เท่านี้จะช่วยบรรเทาปัญหาของวิทยาลัยอาชีวะเอกชนไปได้มากแล้ว ทั้งนี้ อยากให้รัฐช่วยเหลือเรื่องเงินเดือนครูด้วย เพราะเงินเดือนครูของอาชีวะเอกชนไม่ได้เพิ่มมานานกว่า 5 ปีแล้ว จึงอยากให้รัฐทบทวนเรื่องนี้เป็นการด่วน เพื่อสร้างขวัญกำหลังใจครูอาชีวะเอกชน เพราะปัจจุบันวิทยาลัยอาชีวะเอกชนต้องเฉือนเนื้อตัวเองมาเพิ่มเงินเดือนครู เพื่อต้องการสร้างขวัญกำลังใจให้ครู จึงไม่มีงบมาพัฒนาการเรียนการสอนให้กับนักเรียน” นายอดิศรกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image