พ.ร.บ.การศึกษาชาติฯ ส่อแท้ง หลัง’แม่พิมพ์’รุมสับลดศักดิ์ศรีครู

พ.ร.บ.การศึกษาชาติฯ ส่อแท้ง หลัง’แม่พิมพ์’รุมสับลดศักดิ์ศรีครู ลุ้น’ครม.’ตีกลับกฤษฎีกา-ส่งสภาฯ

นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งพ้นจากอำนาจการพิจารณาของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จากนี้ขึ้นอยู่กับครม.ว่าจะเห็นชอบร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว หรือส่งกลับให้คณะกรรมการกฤษฎีกาปรับแก้ ทั้งนี้กรณีไม่ส่งกลับให้คณะกรรมการกฤษฎีกาปรับแก้สามารถพิจารณาแก้ไขได้ในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) สภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง

นายอำนาจ กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นที่ครู ผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษาไม่เห็นด้วย โดยเห็นว่าร่างพร.บ.ที่กำลังจะเข้าสู่สภาฯ ลดคุณภาพของการจัดการศึกษา โดยมีการปรับเปลี่ยนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพของครูเป็นใบรับรองการประกอบวิชาชีพ และผู้บริหารสถานศึกษาเปลี่ยนเป็นตำแหน่งหัวหน้าสถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษาระดับเขตไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ซึ่งถือว่าเป็นการลดคุณภาพของครู ลดคุณภาพของสถานศึกษา และลดคุณภาพของสำนักงานเขตพื้นที่ ส่งผลต่อการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ นั้น ในส่วนของสกศ.รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่ผู้เกี่ยว โดยเฉพาะครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่การจะปรับแก้หรือไม่ขณะนี้ อยู่ที่การพิจารณาของครม. ส่วนสกศ.ทำหน้าที่วิเคราะห์และเสนอความเห็นเพิ่มเติมไปให้พิจารณา ดังนั้นจึงต้องรอว่า ครม.จะมีมติไปในทิศทางใด

“ในส่วนของสกศ. ได้มีการหารือข้อกังวลของครูและบุคลากรทางการศึกษา และเห็นด้วยที่จะแก้ไขทั้ง 3 ข้อเบื้องต้น ทั้งการปรับแก้ชื่อ ผู้บริหารสถานศึกษา เป็นหัวหน้าสถานศึกษา สกศ.เห็นว่าควรกลับมาใช้ ชื่อตำแหน่ง ผู้บริหารสถานศึกษา หรือใบรับรองความเป็นครู ก็ควรกลับมาใช้ใบอนุญาตฯ ตามเดิม เพราะแม้จะเปลี่ยนชื่อทั้งสองอย่าง ทางกฎหมายอาจไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพียงแต่ภาษาที่ใช้อาจทำให้ครู และบุคาลกรทางการศึกษาเกิดความกังวล ไม่มั่นใจ ลดทอนศักดิ์ศรีวิชาชีพครู ดังนั้นหากเป็นเช่นนี้ก็ไม่ควรปรับแก้ หรือกำหนดไว้ในกฎหมาย ขณะเดียวกัน ยังมีเรื่องการกระจายอำนาจทั้งระดับจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และโรงเรียนที่เห็นว่า ควรต้องเขียนรายละเอียดให้มีความชัดเจนมายิ่งขึ้น แต่ขณะนี้ทุกอย่างพ้นจากอำนาจหน้าที่ของสกศ.แล้ว ดังนั้นจึงต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของครม. โดยร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ เกิดขึ้น จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่กำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯให้สอดคล้อง มีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปรูปการศึกษา (กอปศ.) ขึ้นมาดำเนินการยกร่าง และร่างฉบับกอปศ. เสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตั้งแต่ปี 2562 แต่ถูกส่งกลับมาสอบถามความคิดเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใหม่อีกครั้ง จึงถือว่า การยกร่างกฎหมายฉบับนี้มีความล่าช้าไปมากแล้ว “นายอำนาจกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image