ปธ.กมว.แจงข้อดี กม.ศึกษาใหม่ มุ่งคุณภาพ กำจัด ‘ครู-ผู้บริหาร’ ไร้จริยธรรม-ทุจริต-ชู้สาว

ปธ.กมว.แจงข้อดี กม.ศึกษาใหม่ มุ่งคุณภาพ กำจัด ‘ครู-ผู้บริหาร’ ไร้จริยธรรม-ทุจริต-ชู้สาว

ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และประธานกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) กล่าวว่า กรณีมีกลุ่มองค์กรครูออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับใหม่ ที่น่าสนใจคือข้อเรียกร้องที่ไม่เห็นด้วย ไม่ปรากฏชัดเจนว่าพูดถึงคุณภาพการศึกษา ทั้งๆ ที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ เน้นเรื่องคุณภาพผู้เรียน และครู แบบที่ พ.ร.บ.การศึกษาฯ พ.ศ.2542 ไม่เคยพูดถึง เช่น มาตรา 8 กำหนดสมรรถนะเด็กตามช่วงวัยไว้ชัดเจน  มาตรา 14 การจัดการศึกษาต้องอยู่บนพื้นฐานของ 12 ข้อ ที่เน้นเรื่องสถานศึกษา และครู ชัดเจน และต้องมีมาตราการป้องกันมิให้หน่วยงานของรัฐสั่งการ หรือมอบหมายกิจกรรม หรือโครงการใดๆ ที่ทำให้ครูไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่หลักได้ หรือทำให้ผู้เรียนไม่มีเวลาพอในการเรียน

ดร.เอกชัยกล่าวต่อว่า มาตรา 25 ความเป็นอิสระของสถานศึกษาของรัฐ ต้องให้เกิดผลอย่างน้อย 4 ด้าน และกำหนดแตกต่างกันได้สำหรับสถานศึกษาแต่ละระดับ หรือแต่ละขนาด ที่มีความพร้อมแตกต่างกัน มาตรา 27 และ 28 กำหนดเงินรายได้สถานศึกษาไม่ต้องส่งคลัง และสัดส่วนการใช้เงินสถานศึกษา ให้บุคลากรทั้งหมดของสถานศึกษาร่วมกันกำหนด มาตรา 34 ครูต้องมีคุณลักษณะทั่วไปอย่างไร 7 ข้อ และครูที่ใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต หรือให้ผู้เรียนกระทำการในทางเพศ ให้ถือว่าครูผู้นั้นประพฤติชั่วร้ายแรง แต่ใน พ.ร.บ.เดิม มาตรา 52 พูดเพียงการพัฒนาครู การผลิตครู บุคลากรการศึกษา ให้มีคุณภาพ และมาตรฐาน แต่ไม่ได้กำหนดคุณลักษณะครูที่ชัดเจนแบบร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่

“ผมคิดว่าอยากจะเรียกชื่อผู้บริหารสถานศึกษา ก็เรียกไปเถอะ ในร่าง พ.ร.บ.ใช้หัวหน้าสถานศึกษา และเรียกชื่ออื่นได้ตามแต่จะออกกฏหมาย อยากเรียกครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง แล้วคิดว่าถ้าไม่ใช่วิชาชีพชั้นสูง เป็นการลดศักดิ์ศรีครู ก็ปล่อยให้เรียกไปเถอะ แต่ ศธ.ต้องเน้นความรับผิดชอบสูง ด้วยการออกประกาศ ข้อบังคับ ที่กำจัดครู ผู้บริหาร บุคลากรการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ ไม่มีคุณธรรม ไม่มีจริยธรรม ทั้งทุจริต ชู้สาว เมา หรือทิ้งโรงเรียน ออกไปให้ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ใช่อย่างปัจจุบันที่ทำได้ช้ามาก และบางแห่งยังช่วยเหลือปกปิด
อยากจะเรียกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูแทนใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู ก็เรียกไปเถอะ ขอให้ครูไม่ต้องเป็นภาระต่อใบประกอบวิชาชีพทุก 5 ปี ก็ช่วยครูได้มาก ขอแต่อย่าทำลายหลักการของการออกแบบ พ.ร.บ.ใหม่ตามแนวคิด ข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ซึ่งไม่ใช่ร่างของรัฐบาล” ดร.เอกชัย กล่าว

ดร.เอกชัยกล่าวต่อว่า บางคนวิจารณ์ว่า พ.ร.บ.ฉบับใหม่เขียนไม่เป็นสากล ไม่พูดถึงการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ มาตรา 47 พูดถึงการจัดการศึกษาตามระบบ เพื่อเพิ่มคุณวุฒิตามระดับ เพื่อพัฒนาตนเอง และเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต น่าจะมีเหตุผลที่ดี เพราะอนาคตเรียนได้ทุกที่ด้วยตนเอง รู้ได้ทุกเวลา จะยึดติดกับคำว่าในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ทำไม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image