5ปีทวง 2ทับหลัง จากมะกันสู่ไทย

ในที่สุดภารกิจทวงคืนทับหลัง 2 ชิ้น จากสหรัฐอเมริกา ได้แก่ ทับหลังปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้ว เป็นอันเสร็จสิ้นหลังการรอคอยนานถึง 5 ปีเต็ม โดยมีการจัดพิธีมอบคืนอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น

สำนักงานสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐ (เอชเอสไอ) เอกอัครราชทูตไทย และเหล่ากงสุลใหญ่ร่วมเป็นสักขีพยาน พิธีบวงสรวงถูกจัดขึ้นอย่างเรียบง่าย ทว่า มีสีสัน ครบจบตามประเพณีไทยๆ ที่หลอมรวมไว้ทั้งพุทธและพราหมณ์ โปรยดอกไม้ รำกฤษดาภินิหารจัดเต็ม ก่อนบรรจุหีบห่อขนย้ายไปยังท่าอากาศยานนครลอสแองเจลิส จนจบสิ้นกระบวนทางเอกสารและศุลกากร มีกำหนดการถึงสนามบินสุวรรณภูมิในเวลาราว 22.00 น. ของวันที่ 28 พฤษภาคมนี้ โดยสายการบินโคเรียนแอร์ คาดว่าจะมีการจัดส่งมายังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พช.) พระนคร กรุงเทพฯ ในวันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคมนี้

ส่วนแผนงานหลังจากนั้น ประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เผยว่า จะมีพิธีรับมอบและเปิดนิทรรศการโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สำหรับสถานที่จัดแสดงทับหลังคือ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ท้องพระโรงเดิมของพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า ซึ่งปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ พช.พระนคร โดยจะให้ประชาชนยลโฉมเป็นเวลา 3 เดือน

แน่นอนว่า กว่าจะถึงวันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย หากจะย้อนหลังไปถึงที่มาของการทวงคืน 2 ทับหลัง ก็ต้องเล่าถึงความพยายามทวงคืน ทวงคืนพระโพธิสัตว์ประโคนชัย ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2559 ของกลุ่ม สำนึก 300 องค์ นำโดย ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี ผศ.ดำรง ลีนานุรักษ์ อดีตรองอธิการบดี ม.แม่โจ้, โชติวัฒน์ รุญเจริญ บัณฑิตคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และ ยอดชาย อ้ายเจริญ ประชาชนที่สนใจด้านประวัติศาสตร์ ซึ่งทำการค้นข้อมูลเกี่ยวกับประติมากรรมโพธิสัตว์ประโคนชัย จากปราสาทปลายบัด อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ แต่ปัจจุบันไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ต่างประเทศ โดยเรียกร้องให้ภาครัฐทวงคืนกลับแผ่นดินไทย

Advertisement

ปฏิบัติการนี้เอง นำไปสู่การค้นพบโบราณวัตถุไทยชิ้นอื่นๆ รวมถึงทับหลังทั้ง 2 ชิ้นนี้ ซึ่งถูกเก็บไว้ภายในพิพิธภัณฑ์ศิลปะในสหรัฐอเมริกา ปรากฏเป็นข่าวครั้งแรกใน มติชนออนไลน์ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2559 คือกรณีทับหลังจากปราสาทหนองหงส์ ซึ่ง ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ พบภาพถ่ายในเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ Asian Art Museum Chong-Moon Lee Center for Asian Art and Culture ในซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ซึ่งเมื่อพิจารณาจากรูปแบบและลวดลาย รวมถึงรายละเอียดต่างๆ พบว่าตรงกับทับหลังที่สูญหายไปจากปราสาทหนองหงส์ อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ มีหลักฐานคือภาพถ่ายเก่าขาวดำจากการสำรวจโดย มานิต วัลลิโภดม ระหว่าง พ.ศ.2503-2504 คาดว่าน่าจะถูกนำออกนอกประเทศในช่วงเดียวกับทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ จากปราสาทพนมรุ้ง คือราว พ.ศ.2508 เป็นต้นไป

จึงเกิดการเรียกร้องให้ทวงคืนพร้อมๆ กับกระแสทวงคืนโพธิสัตว์ประโคนชัย ป้ายขนาดยักษ์เชิญร่วมพิธีบวงสรวงปราสาทหนองหงส์ 23 สิงหาคม 2559 พร้อมข้อความ ขอทวงคืนสมบัติชาติ ตระหง่านริมถนนในอำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์

ราว 1 ปีต่อมา นักวิชาการท่านเดิมยังพบเพิ่มเติมว่าทับหลังปราสาทเขาโล้นที่สูญหาย ปรากฏในพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐเช่นกัน หนังสือพิมพ์ มติชน รายวัน และมติชนออนไลน์ 18 พฤษภาคม 2560 เผยแพร่ข่าวพร้อมหลักฐาน มัดแน่น มาตีแผ่อย่างดิ้นไม่หลุด นั่นคือภาพถ่ายเก่าจากหนังสือ ศิลปะสมัยลพบุรี โดย ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2510 ยืนยันว่าเคยประดับอยู่บนกรอบประตูปราสาทเขาโล้น อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว (ในอดีต ยังเป็นจังหวัดปราจีนบุรี) ราชอาณาจักรไทยอย่างไม่ต้องสงสัย

Advertisement

ข้อความของ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ซึ่งทรงอธิบายถึงทับหลังจากปราสาทเขาโล้น มีความว่า ปราสาทเขาโล้นเป็นปราสาทหลังเดียว ก่อด้วยอิฐ ทับหลังสลักเป็นรูปเกียรติมุขอยู่ตรงกลาง มีริมฝีปากล่างและแลบลิ้นออกมาเป็นแผ่นสามเหลี่ยม มีเทวดาประทับนั่งชันเข่าอยู่ข้างบน อย่างไรก็ดี ท่อนพวงมาลัยนั้นมิได้ออกมาจากปาก แต่อยู่ใต้ลิ้น และท่อนปลายของพวงมาลัยก็ขมวดเป็นวงโค้งสลับกันเพียงข้างละ 2 วงเท่านั้น เหตุนั้นจึงอาจอยู่ในระหว่าง พ.ศ.1700-1750 แทนที่จะอยู่ระหว่าง พ.ศ.1600-1650

อย่างไรก็ดี เสาอิงกรอบประตูและกรอบประตูหินทรายก็ดูอาจจะเก่าแก่กว่าระยะนี้ อายุของปราสาทอิฐแห่งนี้ยังไม่สู้แน่นอนนัก มีจารึกสลักอยู่บนกรอบประตูด้านใต้และด้านเหนือบ่งถึง พ.ศ.1559 แต่เสาอิงประตูและกรอบประตูหินทรายเหล่านี้อาจจะนำมาจากปราสาทหลังอื่นที่เก่าแก่กว่านี้ก็ได้

ประเด็นดังกล่าวส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์และสระแก้ว ออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนการทวงคืน นักวิชาการจำนวนมากเข้าเป็นแนวร่วม ร่วมกันนำเสนอแนวทางการทวงคืน และทวงถาม ความคืบหน้าจากภาครัฐ กระทั่งเดือนพฤษภาคม 2560 วีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมในขณะนั้น เห็นชอบให้ติดตามทวงคืนโบราณวัตถุอย่างเป็นระบบ โดยให้ทำงานร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กรมศุลกากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิ เร่งประสานไปยังสถานทูตไทยในประเทศต่างๆ ช่วยตรวจสอบโบราณวัตถุไทยในต่างแดน

โดยในขณะนั้นมี อนันต์ ชูโชติ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร มิถุนายน 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงนามแต่งตั้ง คณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศ เพื่อทวงคืนโบราณวัตถุของไทย 133 ชิ้น โดยกำหนดมาตรการตรวจสอบ ประสานความร่วมมือ ทั้งวิธีการการทูตและกฎหมาย วันเวลาผ่านไปอีกกว่า 3 ปี

กระทั่งเดือนสิงหาคม 2563 นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า หลังจากกรมศิลปากรได้ประสานงานอย่างเป็นทางการผ่านกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ส่งหนังสือติดตามทวงคืนโบราณวัตถุถึงสำนักงานสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ สหรัฐอเมริกา และส่งข้อมูลการศึกษาทางวิชาการพร้อมหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น รายงานการสำรวจของกรมศิลปากร ตัวอย่างเอกสารอนุญาตในการส่งออกโบราณวัตถุ เป็นต้น เพื่อใช้ในการสืบสวนสอบสวน ยืนยันว่าโบราณวัตถุนั้นมีถิ่นกำเนิดในไทย และได้ถูกลักลอบนำออกไปโดยวิธีการที่ผิดกฎหมาย ได้รับแจ้งข้อมูลว่า ทับหลังจากปราสาทเขาโล้น และทับหลังจากปราสาทหนองหงส์ ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของสหรัฐ และทางพิพิธภัณฑ์ฯยอมรับว่าทับหลังทั้ง 2 รายการ เป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายไทย

โดยมีการนำทับหลังทั้ง 2 ชิ้น ออกจากห้องจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ไปจัดเก็บในห้องคลัง เพื่อรอขั้นตอนทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ในกระบวนการส่งคืนสู่ประเทศไทย เมษายน 2564 กรมศิลปากรมอบอำนาจให้สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแองเจลิส ลงนามในเอกสารข้อตกลงเพื่อรับคืนโบราณวัตถุดังกล่าวจากสหรัฐอเมริกา จนนำมาสู่การส่งมอบและจัดส่งกลับคืนแผ่นดินไทยในที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image