เอกชน โอด ศธ.โยนภาระให้ ร.ร.ทะเลาะกับผู้ปกครองปมคืนค่าธรรมเนียมการเรียน

เอกชน โอด ศธ.โยนภาระให้ ร.ร.ทะเลาะกับผู้ปกครองปมคืนค่าธรรมเนียมการเรียน

นายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส. กช.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ออก ประกาศ ศธ. เรื่อง แนวปฏิบัติการเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นไปแล้ว โดย ศธ.ออกแนวปฏิบัติ ดังนี้ 1.ในกรณีที่ได้มีการเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียม การเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นไปแล้ว ให้คืนเงินบำรุงการศึกษาหรือค่าธรรมเนียมดังกล่าว ในส่วนที่ไม่ได้ จัดกิจกรรมการเรียนการสอนนั้นในระหว่างที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 2. ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษาค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่น เพื่อใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน อาจพิจารณาผ่อนผันหรือขยายระยะเวลาการเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษา หรือ ค่าธรรมเนียมดังกล่าวตามความเหมาะสมเป็นกรณีไป และ 3.พิจารณาให้ความช่วยเหลือในกรณีที่ผู้ปกครองของนักเรียน นักศึกษา ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวตามความจำเป็นเหมาะสม ซึ่งประกาศนี้สร้างผลกระทบให้กับโรงเรียนเอกชนจำนวนมาก เพราะผู้ปกครองถือประกาศ​ ศธ.มาโดยที่ไม่อ่านรายละเอียดและมาขอให้โรงเรียนคืนค่าธรรมเนียม หรือลดค่าเทอม ซึ่งทำให้โรงเรียนเอกชนรับภาระอย่างมาก เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเงินเดือนครู ครูต่างชาติ และบุคลากร เช่น แม่ครัว แม่บ้าน ภารโรง ต้องจ้างต่อแม้จะไม่ได้เปิดเรียนตามปกติ ซึ่งเงินที่มาใช้จ่ายเป็นเงินเดือนให้กับบุคลากร ก็มาจากเงินอุดหนุนรายหัว และเงินค่าธรรมเนียมการเรียน

นายศุภเสฏฐ์ กล่าวต่อว่า ศธ.ไม่ได้ช่วยค่าใช้จ่าย หรือให้การสนับสนุนโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนรัฐเลย ตั้งแต่โควิด-19 ระบาดระลอกที่ 1 โรงเรียนต้องหาเงินจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคทั้งหมด บางโรงเรียนหมดเงินกับการจัดเตรียมอุปกรณ์เพื่อป้องกันเชื้อโควิด-19 กว่า 100,000 บาท เพื่อให้ผู้ปกครองและนักเรียนมีความสบายใจ ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก็มาจากค่าธรรมเนียมการเรียนที่โรงเรียนเรียกเก็บ รวมทั้งอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ที่ต้องให้ครูและนักเรียน โรงเรียนก็เป็นคนจ่ายทั้งหมด รัฐไม่เคยช่วยอะไรเลย เช่น การเสียภาษีโรงเรือน ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่โรงเรียนเอกชนในระบบและนอกระบบก็ต้องจ่ายเหมือนเดิม หรือโรงเรียนเอกชนในระบบและนอกระบบขอกู้เงินสินเชื่อดอกเบี้ยต้ำ หรือ ซอฟต์โลน ศธ.ก็ไม่เคยหาแหล่งเงินกู้มาให้โรงเรียนเอกชนกู้ยืมเลย แล้วต่อไปโรงเรียนเอกชนจะอยู่รอดได้อย่างไร

“ประกาศ ศธ.ที่ออกมา เป็นประกาศที่ออกมาลอยๆ คือกำหนดว่าหากโรงเรียนสามารถลดค่าธรรมเนียมได้ ให้ลด หรือไม่เก็บค่าธรรมเนียมเลย แต่ขณะนี้โรงเรียนยังไม่ได้เปิดเทอม แล้วโรงเรียนจะรู้หรือว่าจะต้องเก็บค่าธรรมเนียมอะไรบ้าง หากเปิดเทอมมาแล้ว โรงเรียนสามารถคำนวณได้ว่าจะให้นักเรียนทำกิจกรรมอะไรบ้าง แล้วมาคำนวณและเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการเรียนกับผู้ปกครองทีหลัง เมื่อเปิดเทอมแล้ว ถ้าโรงเรียนไม่สามารถจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้ โรงเรียนจะคืนเงินส่วนนี้ให้ผู้ปกครอง เหมือนกับการคืนค่าธรรมเนียมการเรียน ในปีการศึกษา 2563 ที่โรงเรียนเอกชนได้คืนค่าธรรมเนียมการเรียนให้ผู้ปกครองไปกว่า 2 พันล้านบาท แต่ขณะนี้ โรงเรียนยังไม่เปิดเทอม แล้วโรงเรียนจะต้องคืนเงินค่าธรรมเนียมอะไรบ้าง คืนในอัตราส่วนเท่าใด ศธ.ไม่ได้ระบุรายละเอียดเลย โรงเรียนช่วยเหลือผู้ปกครองเต็มที่ เช่น โรงเรียนบางแห่งกำหนดให้นักเรียนไม่ต้องแต่งชุดเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี กระเป๋าก็ให้ใช้ของเดิม เป็นต้น เพื่อไม่ให้ผู้ปกครองเสียเงินเพิ่ม ขณะนี้ ศธ.เหมือนโยนให้โรงเรียนต้องมาทะเลาะกับผู้ปกครอง แล้วโรงเรียนเอกชนจะอยู่อย่างไร” นายศุภเสฏฐ์ กล่าว

นายศุภเสฏฐ์ กล่าวอีกว่า ที่สำคัญการฉีดวัคซีนให้ครูรัฐและเอกชน ที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เน้นย้ำว่าครูทุกคนจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 วันที่ 14 มิถุนายน ขณะนี้ความคืบหน้าเป็นอย่างไรบ้าง มีจำนวนครูที่ได้รับการฉีดวัคซีนทั้ง 2 เข็มเท่าไหร่แล้ว เรื่องนี้ ศธ.ก็ควรจะออกมาแถลงความคืบหน้าเพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ปกครองและนักเรียน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image