อ.ธรรมศาสตร์ ร้องนักโบราณคดี-มานุษยวิทยาแสดงจุดยืนกรณี“ป้อมมหากาฬ”-ชุมชนทั่วประเทศเขียนป้ายส่งแรงใจ

สืบเนื่องกรณีไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร กรุงเทพ ฯ ซึ่งกทม. ได้ทำการรื้อถอนบ้านเรือนจำนวน 16 หลัง โดยมีครัวเรือนที่ยังไม่ยินยอมให้รื้อถอนอีกกว่า 40 หลังคาเรือน โดยล่าสุด ชุมชนและนักวิชาการอยู่ระหว่างดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการพหุภาคี โดยขอให้รัฐเป็นตัวกลางในการหาทางออกนั้น

เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า  ผู้ที่ทำงานด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โบราณคดี หรือมานุษยวิทยาเมืองควรออกแถลงการณ์อะไรบ้างนะครับเกี่ยวกับปัญหาเรื่องการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ ผมว่านี่มันหน้าที่อย่างหนึ่งในวิชาชีพคือการออกมาปกป้องและอนุรักษ์วัฒนธรรม เนื่องจาก เหตุการณ์ดังกล่าว มีความเกี่ยวข้องกับมิติทางด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีอย่างมาก

ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

“สังเกตได้ว่าคนที่เข้ามาเคลื่อนไหวทั้งหมดแทบไม่มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยหรือที่บางครั้งเราเรียกว่านักวิชาการที่ยังไม่ปลดเกษียณเข้าไปเคลื่อนไหวสักเท่าไหร่ ไม่มีประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ไม่มีประวัติศาสตร์แบบกระแสหลัก ไม่มีโบราณคดีเข้ามาร่วมในเรื่องนี้เท่าที่ควร กระทั่งก็ไม่มีมานุษยวิทยาเมืองเช่นกัน
หลายคนมักพูดว่าอาจารย์มีหน้าที่สอนหนังสือ งานวิจัยหรืองานบริการวิชาการสังคมเป็นเรื่องรอง แต่บางครั้งเราอาจต้องทบทวนในเรื่องบทบาทเหล่านี้บ้าง เราเรียนอดีตไม่ใช่เพื่อตัวเราเองอย่างเดียว แต่เพื่อเข้าใจปัจจุบัน และปรับใช้กับสถานการณ์ปัจจุบัน ความรู้เกี่ยวกับอดีตไม่ว่าจะประวัติศาสตร์หรือโบราณคดีเป็นผลมาจากการผลิตความรู้ของคนในปัจจุบัน

แต่การจะเข้าไปแอคชั่นกับกิจกรรมทางสังคมไม่ใช่เรื่องง่ายครับ มีปัญหามาก เพราะคุณต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งที่ใช้อำนาจในทางดีและทางลบ ต้องเจอกับชาวบ้าน ต้องเจอกับนักวิชาการที่เป็นเจ้าที่ ต้องพบกับความขัดแย้งต้องพบกับภาพที่ฉาบอยู่ด้านหน้า แต่มันมีปัญหาด้านหลังลึกๆ ที่คุณอาจไม่รู้ หรือกระทั่งตกเป็นเครื่องมือของความขัดแย้ง เรื่องทั้งหมดต้องอาศัยการเรียนรู้ และประสบการณ์ แต่ถ้าไม่เริ่มก็จะไม่ได้เริ่มต้น ผลจากความพยายามในการหลีกเลี่ยงกับความวุ่นวายข้างต้นก็คือ ทำให้กลายเป็นการทำงานแบบอดีตเพื่ออดีต เป็นอดีตแบบโรแมนติก บางครั้งเราก็ต้องออกมาจาก comfort zone บ้างครับ เพื่อเข้าใจโลกแห่งความเป็นจริง และมันจะช่วยตอบคำถามให้กับสังคมได้ครับว่าเรียนประวัติศาสตร์หรือโบราณคดีไปทำอะไร” ผศ.พิพัฒน์กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ องค์กรชุมชนจากทั่วประเทศ มีการรวมตัวเขียนป้ายผ้ามีข้อความว่า “ให้คนอยู่ร่วมกับเมือง ป้อมมหากาฬต้องอยู่ต่อ” เพื่อให้กำลังใจชุมชนป้อมมหากาฬ

ป้ายผ้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image