ตั้ง กก.ถก ‘สอบ-ไม่สอบ’ วิชาเอก ปมผู้สอบตกตั๋วครูร้องศาล-คาด มิ.ย.สรุป

ตั้ง กก.ถก ‘สอบ-ไม่สอบ’ วิชาเอก ปมผู้สอบตกตั๋วครูร้องศาล-คาด มิ.ย.สรุป ลุ้นปรับใช้ทันทดสอบใบอนุญาตฯ ต.ค.64

นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการคุรุสภา เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้จบการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต หรือ ป.บัณฑิต จำนวนหนึ่ง ที่เข้าการทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพแล้วสอบไม่ผ่าน จึงไปร้องศาลปกครองว่าข้อสอบอาจไม่มีความเป็นธรรม ขอให้พิจารณาการทดสอบขอรับใบอนุญาตฯ ใหม่ พร้อมเรียกร้องขอไม่สอบวิชาเอก ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องละเอียดอ่อน โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ที่มี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้น 1 ชุด เพื่อศึกษา และพิจารณาข้อร้องเรียนอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะเรื่องการสอบวิชาเอก ว่าควรสอบ หรือไม่ควรสอบ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะเป็นผู้พิจารณา

“เพราะประเด็นดังกล่าวมีเสียงแตกออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งมองว่าควรจะสอบวิชาเอกด้วย เพื่อให้ได้ครูที่มีคุณภาพ แต่อีกฝ่ายหนึ่งมองว่า ไม่ควรสอบวิชาเอก เพราะเพิ่มภาระผู้สอบ และหน่วยงานอื่นก็มีกระบวนการสอบวัดความรู้วิชาเอกอยู่แล้ว เช่น การสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็มีการสอบภาค ค.วัดความเหมาะสมกับตำแหน่ง วิชาชีพ และการปฏิบัติงานในสถานศึกษา โดยประเมินจากการสอบสัมภาษณ์ แฟ้มสะสมงาน และการสอบสาธิตการปฏิบัติการสอนอยู่แล้ว” นายดิศกุล กล่าว

นายดิศกุลกล่าวต่อว่า คณะกรรมการชุดดังกล่าว จะเป็นคนกลางพิจารณาว่าควรสอบวิชาเอกหรือไม่ คาดว่าภายในเดือนมิถุนายนนี้ จะได้ข้อสรุป เพื่อให้คุรุสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำมาปรับใช้ได้ทันในการทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ครั้งที่ 2 ในเดือนตุลาคมนี้ หากคณะกรรมการตัดสินว่าไม่สอบวิชาเอก ผู้ที่สอบครั้งแรกอาจมีโอกาสสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งตำแหน่งครูผู้ช่วย ที่ สพฐ.จะเปิดรับสมัครอีกครั้งในเดือนตุลาคมนี้ด้วย คือถ้าการสอบรอบแรกที่คุรุสภากำหนดให้สอบ 5 หมวดวิชา ได้แก่ 1.หมวดทักษะภาษาไทย 2.หมวดทักษะภาษาอังกฤษ 3.หมวดทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital literacy) เพื่อการศึกษา 4.หมวดความรู้ทางวิชาชีพครู และ 5.หมวดความรู้วิชาเอก หากตัดวิชาเอกออกไป แล้วปรากฎว่าผู้เข้าสอบผ่านการทดสอบทั้ง 4 หมวดวิชา จะมีคุณสมบัติ และยื่นสมัครสอบครูผู้ช่วยได้อีกครั้ง

“อย่างไรก็ตาม การทดสอบครั้งที่ผ่านมา มีผู้เข้าสอบ 7,263 คน สอบผ่านเพียง 700 กว่าคนเท่านั้น ถือว่าน้อยมาก คุรุสภาได้หารือร่วมกันว่าอะไรเป็นสาเหตุที่มีผู้สอบผ่านน้อย และเห็นตรงกันว่าอาจจะมาจากหลายสาเหตุ เช่น ข้อสอบส่วนหนึ่งอาจยาก แต่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ได้จัดการทดสอบตามมาตรฐานวิชาชีพครู และออกข้อสอบตามผังข้อสอบ หรือ Test Blueprint อยู่แล้ว หรือการสอบครั้งนี้ เป็นการสอบครั้งแรก ผู้เข้าสอบอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับข้อสอบ สถาบันผลิตครูอาจไม่เน้นสอนเรื่องนี้มากนัก และการสอบครั้งนี้ ไม่ได้สอบเหมือนปกติทั่วไป เพราะได้สอบวัดสมรรถนะครูด้วย ซึ่งอาจยาก และผู้สอบอาจไม่คุ้นเคย ทำให้สอบผ่านน้อย” นายดิศกุล กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image