สพฐ.เล็งนำร่อง 7 วาระเร่งด่วน ‘ตรีนุช’ ในร.ร.คุณภาพ 349 แห่ง

สพฐ.เล็งนำร่อง 7 วาระเร่งด่วน ‘ตรีนุช’ ในร.ร.คุณภาพ 349 แห่ง

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังประชุมผู้บริหารระดับสูง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้ติดตามการจัดการเรียนการสอน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งตนมอบหมายและแบ่งพื้นที่ให้ผู้บริหารในสังกัด สพฐ.รับผิดชอบติดตามนิเทศก์การสอนผ่านระบบออนไลน์ แม้ สพฐ.จะออกแบบการสอน 5 รูปแบบ คือ On-site,On-air, On-demand, Online และ On-hand ไว้ แต่ถ้าปฏิบัติจริงจะสามารถทำได้ดีหรือไม่ ดังนั้น การไปนิเทศก์และติดตามการสอน จะทำให้สพฐ.ได้รวบรวมข้อมูล เพื่อทราบปัญหาอุปสรรค และหาทางแก้ไขต่อไป เท่าที่รับฟังปัญหาการจัดการเรียนการสอน พบว่าส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องอุปกรณ์ที่ใช้เรียนที่ไม่เพียงพอ เช่น ครอบครัวที่มีลูกหลายคน แต่มีเครื่องมือที่ใช้เรียนออนไลน์แค่เครื่องเดียว เป็นต้น ซึ่งตนได้แจ้งให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) โรงเรียน และครู ลงไปสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ปกครองและนักเรียน เพราะครูไม่จำเป็นต้องสอนด้วยออนไลน์ทั้งหมด ซึ่งครูอาจจะจัดการเรียนการสอนด้วยวิธีที่หลากหลาย โดยครูต้องรู้ข้อมูลแวดล้อมของเด็กทุกคน เพื่อมาปรับวิธีการสอนให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมของเด็กด้วย

นายอัมพร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามนโยบาย 7 วาระเร่งด่วน ของ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่เกี่ยวข้องกับ สพฐ. เช่น ความปลอดภัยในสถานศึกษา หลักสูตรฐานสมรรถนะ การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความจำเป็นพิเศษ ว่ามีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้างเพื่อให้การทำงานเดินหน้าตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ได้ จากที่ได้รับรายงานมาเบื้องต้น ไม่มีปัญหาอุปสรรคอะไร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมดำเนินการตามแผนที่วางไว้ โดยสพฐ.วางแผนที่นำร่องนโยบายเร่งด่วนของรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ในโรงเรียนคุณภาพ จำนวน 349 แห่ง

“สพฐ.ต้องการใช้วิกฤตโวคิด-19 พัฒนาการทำงานใหม่ เพราะตั้งแต่โควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ สพฐ.ต้องจำกัดคนเข้าทำงาน โดยให้บุคลากรส่วนใหญ่ทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) ซึ่ง สพฐ.อยากเรียนรู้ว่าเมื่อให้บุคลากร Work from Home ประสิทธิภาพ คุณภาพการทำงานเป็นอย่างไร ถ้าคุณภาพงานยังดี อาจจะไม่ให้บุคลากรมาทำงานทุกวัน ซึ่งจะช่วยประหยัดค่ารถ ค่าใช้จ่ายของบุคลากรด้วย ผมได้มอบมหายให้ กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร (กพร.) และสำนักทดสอบทางการศึกษา (สทศ.) ไปทำวิจัยถึงผลดีผลเสียของการทำงานแบบ Work from Home ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานอื่น เพื่อสร้างนวัตกรรมการทำงานใหม่ด้วย” นายอัมพร กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image