มทร.อีสาน ผนึก สธ.ประกาศความพร้อม ต้นแบบกัญชาทางการแพทย์

มทร.อีสาน ผนึก สธ.ประกาศความพร้อม ต้นแบบกัญชาทางการแพทย์

รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร รองอธิการดีประจำวิทยาเขตสกลนคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ พร้อมด้วย นพ.กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันกัญชาทางการแพทย์ นพ.วิศณุ วิทยาบำรุง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสกลนคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้การดำเนินของสถาบันวิจัยและพัฒนากัญชา กัญชงและสมุนไพร โดยการดำเนินของสถาบันวิจัยและพัฒนากัญชา กัญชงและสมุนไพร เพื่อตอบสนองนโยบายการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยของสภามหาวิทยาลัย

ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภา มทร.อีสาน กล่าวในการมอบนโยบายการประกาศความพร้อมให้ มทร.อีสาน เป็นต้นแบบกัญชาทางการแพทย์และขับเคลื่อนกัญชงกัญชาครบวงจร ภายใต้การกำกับติดตามโดย ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดี ให้ มทร.อีสาน เป็นต้นแบบกัญชาทางการแพทย์และขับเคลื่อนกัญชาให้เป็นพืชเศรษฐกิจที่ถูกกฏหมายของประเทศ ตามนโยบายของ สธ.และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึง การเตรียมความพร้อมในการเชื่อมต่อเป็นระเบียงเศรษฐกิจกัญชาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทุกภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อสร้างผู้ประกอบการในต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำอย่างครบวงจร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างรายได้ให้กับวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ และ SMEs ให้ดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ในอนาคต มทร.อีสาน จะร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมถึง การประสานความร่วมมือกันทั้ง 9 มทร.เพื่อเป็นศูนย์กลางกัญชา ในระดับโลกต่อไป

รศ.ดร.โฆษิต กล่าวว่า จากการร่วมหารือกันนั้น พบข้อสรุปว่าในวันที่ 21 มิถุนายน นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ.พร้อมด้วย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะทำพิธีตัดช่อดอกกัญชาพันธุ์ไทย 4 สายพันธุ์ ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อยื่นจดสิทธิบัตร ให้นำกัญชาไทยไปส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถนำไปปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจต่อไปได้ โดย 4 สายพันธุ์ ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พัฒนาร่วมกับ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร ได้แก่ กัญชาพันธุ์หางกระรอกภูพานเอสที กัญชาพันธุ์หางเสือสกลนครทีที กัญชาพันธุ์ตะนาวศรีก้านขาวดับเบิ้ลยูเอ และกัญชาพันธุ์ตะนาวศรีก้านแดงอาร์ดี โดยทดลองปลูกในระดับห้องทดลองเพื่อศึกษาให้ครอบคลุมทั้งลักษณะด้านพฤกษศาสตร์ ด้านเคมี และข้อมูลสารพันธุกรรม พบว่า กัญชาไทยแต่ละสายพันธุ์มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของต้น ใบ ช่อ ดอก และกลิ่นที่แตกต่างกัน

“หากการปลูกกัญชาถูกต้องตามกฎหมาย จะผลิตส่งขายได้ตามกฏหมาย ในส่วนใบสด ตกราคากิโลกรัมละประมาณ 15,000 บาท ส่วนใบแห้ง ราคากิโลกรัมละ 40,000 บาท สร้างมูลค่ามหาศาลให้กับไทย ส่วนช่อดอกนั้น ยังไม่สามารถจำหน่ายได้ เพราะกฎหมายยังไม่ปลดล็อก” รศ.ดร.โฆษิต กล่าว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image