จี้รัฐบาลถอน’ร่างพ.ร.บ.การศึกษา’ หลังจ่อเข้าสภาฯแนะยกร่างใหม่ ชี้กระทบโครงสร้าง-คุณภาพครู

จี้รัฐบาลถอน’ร่างพ.ร.บ.การศึกษา’ หลังจ่อเข้าสภาฯแนะยกร่างใหม่ ชี้กระทบโครงสร้าง-คุณภาพครู

นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ ประธานเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครู (คอท) และประธานชมรมพิทักษ์สิทธิผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ….ให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณานั้น อยากเรียกร้องให้รัฐบาลถอนกฎหมายดังกล่าว ออกจากการพิจารณาของสภาฯ เพราะส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาและคุณภาพชีวิตครู ดังนี้ 1. ร่างกฎหมายฉบับนี้มีเจตนาเปลี่ยนสถานะข้าราชการครูเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” จาก มาตรา35 ระบุว่า “ให้มีกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคล สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษาของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในกฎหมายดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีหลักประกันความเป็นข้าราชการหรือความเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีสถานะและได้รับสิทธิประโยชน์เทียบเคียงได้กับข้าราชการ ” เมื่อวิเคราะห์จากสาระแล้วเห็นว่ามาตรานี้ไม่ได้ใช้คำว่า “ข้าราชการครู” แต่ใช้คำว่า “ครูและบุคลากรทางการศึกษา” ที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษาของรัฐซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงจากข้าราชการครูที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นสถานะอื่นที่ไม่ใช่ข้าราชการ ส่งผลเสียต่อวิถีชีวิตครู เพราะหากครูปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกใจผู้มีอำนาจอาจถูกเลิกจ้างได้อย่างไม่เป็นธรรม ที่สำคัญคือจะทำให้ไม่มีแรงจูงใจให้คนเก่งมาเป็นครู

นายรัชชัยย์ กล่าวต่อว่า 2. ครูในสถานศึกษาของรัฐ อาจอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของนายทุน พ่อค้าหรือเอกชน โดย มาตรา11 (5) บัญญัติไว้ว่า “รัฐมีหน้าที่จัดการศึกษาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามมาตรา 8 และมีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือและอุดหนุนการจัดการศึกษาตาม (1) (2) (3)และ (4) ในการจัดการศึกษาดังกล่าวรัฐจะมอบหมายให้เอกชนเข้าบริหารจัดการหรือดำเนินการโดยใช้ทรัพยากรของรัฐก็ได้” การกำหนดเช่นนี้ให้อำนาจรัฐสามารถใช้ดุลพินิจให้เอกชนเข้าบริหารจัดการสถานศึกษาของรัฐ โดยใช้ทรัพยากรของรัฐ ซึ่งข้าราชการครูก็ถือว่าเป็นทรัพยากรของรัฐ 3.หน่วยงานระดับกรมและเขตพื้นที่การศึกษาจะถูกยุบ เพราะในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯกำหนดโครงสร้างส่วนราชการระดับกรมไว้ในมาตรา 34 และมาตรา35 ให้มีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้กำหนดโครงสร้างของหน่วยงานระดับกรมไว้ มาตรา 106 มีสาระสำคัญว่า “…ให้การบริหารราชการศธ.อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการศธ.และปลัดศธ.ซึ่งค่อนข้างชัดเจน ว่า น่าจะมีสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ทุกจังหวัดเพราะถือว่าเป็นตัวแทนปลัดศธ.

“ขณะที่บทเฉพาะกาลของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯฉบับนี้ กำหนดให้ผู้อำนวยการสถานศึกษา รองผู้อำนวยการสถานศึกษา และศึกษานิเทศก์ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มีสิทธิได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินวิทยฐานะและประโยชน์ตอบแทนอื่นเช่นเดียวกับที่ได้รับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ จึงตั้งข้อสังเกต ว่า ร่างกฎหมายนี้ไม่มีการพูดถึงผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา แสดงให้เห็นว่าจะมีการยุบเขตพื้นที่ฯ ดังนั้น ขอเรียกร้องให้รัฐบาลถอนร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯออกไปก่อนแล้วให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานร่างกฎหมายการศึกษาขึ้นใหม่โดยให้ข้าราชการครูมีส่วนร่วม” นายรัชชัยย์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image