ฉุน ‘บอร์ดคุรุสภา’ ตัดสอบวิชาเอกขอตั๋วครู ถามนักการเมืองใช้หลักคิดอะไร

กมว.ฉุน บอร์ดคุรุสภา ตัดสอบวิชาเอกขอตั๋วครู ถามนักการเมืองใช้หลักคิดอะไร ชี้ยังจำเป็น คัดครูคุณภาพ

นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) เปิดเผยว่า ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ที่มีน.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน มีมติเห็นชอบตัดวิชาเอก ในการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ด้านความรู้ และประสบการณ์วิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครู เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ครั้งที่ 2 ในเดือนตุลาคมนี้ นั้น ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกการสอบวิชาเอก ทั้งนี้คุณภาพของครูคือความเชี่ยวชาญในวิธีสอน ศาสตร์การสอน การจัดการเรียนรู้ และความแม่นยำในเนื้อหาวิชาที่สอน ซึ่งคือวิชาเอกของครู การที่กมว.ดำเนินการให้มีการทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตฯเพื่อคะดกรองคนที่มีความรู้ความสามารถเข้าสู่วิชาชีพครู ซึ่งมีความพยายามดำเนินการมาต่อเนื่อง

นายเอกชัย กล่าวต่อว่า เมื่อ กมว.ดำเนินการตามเจตนารมณ์พื่อให้มั่นใจว่าจะได้ครูที่มีคุณภาพตามมาตรฐานวิชาชีพที่กำหนดไว้ และได้ดำเนินการจนกระทั่งมีประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีทดสอบฯ และประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครูเพื่อขอรับใบประกอบวิชาชีพครู เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 เรื่องการจัดสอบเพื่อขอรับใบประกอบวิชาชีพครู 5 วิชา คือ การสื่อสารภาษาไทย การสื่อสารภาษาอังกฤษ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา วิชาชีพครู และวิชาเอก ซึ่งประกาศคุรุสภาดังกล่าวมีผลบังคับใช้กับผู้ที่เข้าศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 เป็นต้นไปทุกหลักสูตร ทุกระดับชั้น ต้องสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตฯ ผลปรากฏว่า การสอบวิชาครู มีผู้ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำร้อยละ 60 ไม่ถึง ร้อยละ10 จนต้องมีการปรับค่าสถิติช่วยเหลือจึงได้ผู้สอบผ่านวิชาครูขึ้นมาเป็นตัวเลขประมาณเกือบร้อยละ 40 ส่วนวิชาเอก คะแนนดิบสอบผ่านไม่ถึงร้อยละ40 เช่นกัน จึงมีผลให้เกิดการอ้างการออกข้อสอบยาก ไม่ตรงตามผังข้อสอบ จนถึงขนาดขอให้ยกเลิกการสอบวิชาเอก ทั้งๆที่วิชาเอกเป็นสิ่งที่สำคัญและสร้างความมั่นใจกับผู้ปกครอง และสังคมให้เชื่อมั่นว่าได้ครูเก่งในเนื้อหาวิชาที่สอนจริงตามมาตรฐานวิชาชีพครู

“ข้อมูลก็คือผู้เรียนป.บัณฑิตมีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30-40ที่สอนไม่ตรงวิชาเอกที่จบ ป.ตรี มาเช่น จบการท่องเที่ยวไปสอนภาษาจีน เป็นต้น เลยขอสอบวิชาภาษาจีนที่ตนเองสอนเพราะไม่มีวิชาการท่องเที่ยวให้ทดสอบ การสอนไม่ตรงวิชาเอกก็ไม่เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพครูอยู่แล้ว เพราะกำหนดให้ปฏิบัติการสอนวิชาเฉพาะ นี่คือสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้เรียน ป.บัณฑิตที่เข้ารับการทดสอบรุ่นแรกสอบไม่ผ่านวิชาเอกเกินครึ่งของผู้เข้ารับการทดสอบเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยที่ผู้เรียนหลักสูตรครูจริงๆ ทั้ง 4 ปี และ 5 ปีที่เข้าศึกษาตั้งแต่ปี การศึกษา 2562 ยังไม่ได้รับการทดสอบเพราะจะมีสิทธิ์สอบครั้งแรกในปี 2565 ก็มายกเลิกการสอบวิชาเอก ทั้งๆที่กลุ่มเป้าหมายนิสิต นักศึกษาครู ในสถาบันผลิตครูจริงๆ ยังไม่ได้เข้ารับการทดสอบเลย การคิดยกเลิกการสอบวิชาเอกก่อนที่กลุ่มเป้าหมายหลักจะทดสอบ ไม่ทราบว่าสำนักงานคุรุสภา ใช้หลักคิดอะไรที่น่าเชื่อถือทางวิชาชีพหรือไม่ การยกเลิกการสอบวิชาเอก หรือให้ผู้เรียน ป.บัณฑิตทุกคน ได้ใบประกอบวิชาชีพครู ของนักการเมืองบางคนใช้หลักคิดอะไร หรือต้องการคะแนนเสียงนิยมมากกว่าคุณภาพครูที่จะมีผลต่อคุณภาพนักเรียน และผู้เรียน”นายเอกชัย กล่าว

ประธานกมว. กล่าวต่อว่า ส่วนเหตุผลการยกเลิกสอบวิชาเอก เพราะเห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีกระบวนการสอบวัดความรู้วิชาเอกอยู่แล้ว เช่น การสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน( สพฐ.)และและการปฏิบัติงานในสถานศึกษา โดยประเมินจากการสอบสัมภาษณ์ แฟ้มสะสมงาน และการสอบสาธิตการปฏิบัติการสอนอยู่แล้วนั้น เรื่องการทดสอบเพื่อขอรับใบอรุญาตฯ กับการปฏิบัติการสอน ในสถานศึกษา และการสอบแข่งขันครูผู้ช่วย เป็นคนละวัตถุประสงค์กัน ไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างที่จะไม่ทดสอบวิชาเอกไ้ด้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image