‘ศธ.-สธ.’ จัดเสวนาแนะ เรียนออนไลน์-WFH อย่างไรให้สุขภาพดี

‘ศธ.-สธ.’ จัดเสวนาแนะ เรียนออนไลน์-WFH อย่างไรให้สุขภาพดี

เมื่อวันที่ 14 กรกฏาคม ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนา “เรียน/สอน/WFH Online อย่างไรให้สุขภาพดี” โดยมี พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย ร่วมด้วย ว่า 2 ปีที่ผ่านมาการศึกษาไทยและต่างประเทศเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบบการศึกษาทางไกล ซึ่งการศึกษาระบบทางไกลมีหลายรูปแบบ เช่น ออนไลน์ ออนแอร์ ออนดีมานด์ เป็นต้น ทำให้เด็กบางส่วนพบปัญหา เช่น ไม่สามารถปรับเปลี่ยนตนเองได้ทัน ไม่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์ ส่วนครูก็พบปัญหา เพราะต้องเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนการสอนที่ต้องการเรียนการสอนออนไลน์ ต้องลงพื้นที่ให้ใบงานนักเรียนตามบ้าน พบปะนักเรียนมากขึ้น นอกจากนี้ครูยังกังวลว่านักเรียนไม่ได้รับความรู้เท่าที่ควร จึงให้การบ้านเยอะ

นายสุภัทร กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ศธ.เร่งแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือโรงเรียน ซึ่งสถานศึกษาบางแห่งเรียนรู้แก้ไขปัญหาได้เร็ว แต่สถานศึกษาบางแห่งไม่สามารถปรับตัวได้เร็ว ซึ่งทางทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้วางแผนในการแก้ไขปัญหา ไว้แล้ว เช่น ปรับเปลี่ยนตัวชี้วัดให้นักเรียนได้เรียนในสิ่งที่ควรรู้ หรือให้ครูแต่ละวิชาร่วมบรูณาการในการให้การบ้านนักเรียน เพื่อไม่ให้นักเรียนเกิดความเครียด เป็นต้น

“นอกจากนี้ทางรัฐบาล และศธ. อยู่ระหว่างหารือกับสถานศึกษาเอกชนว่าจะสามารถช่วยเหลือ โดยการลดค่าธรรมเนียมให้ผู้ปกครองได้อย่างไรบ้าง พร้อมกับหาทางช่วยเหลือสถานศึกษา และครูเช่นกัน เพราะปัจจุบันพบว่าครูมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างเร่งรัดจัดหาวัคซีนให้กับเด็กที่มีอายุมากกว่า 12 ปี ขึ้นไปด้วย” นายสุภัทร กล่าว

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า จากการติดตามสถานะด้านสุขภาพจิตพบความเครียดของประชาชนกลับมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ความเครียดส่วนที่ 1 มาจากความกลัวที่จะติดเชื้อ ความเครียดส่วนที่ 2 มาจากการปรับตัวสู่วิถีใหม่ที่ส่งผลต่อครู ที่ต้องปรับการเรียนการสอนใหม่ นักเรียน และผู้ปกครองที่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองใหม่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อด้านอารมณ์และความรู้สึกอย่างมาก ที่ผ่านมา ศธ.และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้พัฒนาระบบ “ฮีโร่โปรแกรม” และแอพพลิเคชัน HERO เรียกว่า 9S ซึ่งจะประเมินเพียง 9 ข้อเท่านั้น ทำให้ทำประเมินได้ง่าย ใช้เวลาสั้น ค้นหาและช่วยเหลือได้เร็วขึ้น โดย 9 ข้อ คือ 1. ซนเกินไป 2. ใจลอย 3. รอคอยไม่เป็น 4. เศร้า/เครียด หงุดหงิดง่าย 5. ท้อแท้ เบื่อหน่าย 6. ไม่อยากไปโรงเรียน 7. ถูกเพื่อนแกล้ง 8. แกล้งเพื่อน และ 9. ไม่มีเพื่อน

Advertisement

“ระบบนี้จะบันทึกพฤติกรรมของเด็ก เพื่อทราบว่าเด็กเกิดภาวะเครียดหรือไม่ ซึ่งจะมีคู่มือออนไลน์เพื่อให้ครูเรียนรู้และช่วยเหลือนักเรียนได้ทันที ซึ่งขณะนี้ ศธ.และสธ. ได้นำร่องระบบนี้ในโรงเรียนสังกัด สพฐ.จำนวน 6,000 แห่ง ครอบคลุมเด็กกว่า 60,000 คน พบว่าเด็กมีปัญหาประมาณ 10% อย่างไรก็ตาม สธ.และศธ.จะร่วมมือพัฒนาระบบนี้ให้ครอบคลุมสถานศึกษาในสังกัดศธ.เพิ่มมากขึ้น”พญ.พรรณพิมล กล่าว

ด้านนพ.สราวุฒิ กล่าวว่า อยากแนะนำให้ครู นักเรียน ผู้ปกครอง สร้างภูมิคุ้มกันป้องกันโควิด-19 ด้วย 2E1V คือ Exercise 6 ท่า บริหารปอด โดยครูอาจจะจัดกิจกรรมให้นักเรียนบริหารร่างกายระหว่างเรียน เพื่อพักผ่อนร่างกายเด็กและครู Eating โดยผู้ปกครองอาจจะจัดอาหารที่มีประโยชน์ให้กับลูก เพราะจากการสำรวจพบว่าการเรียนออนไลน์อาจจะทำให้เด็กอ้วนขึ้น เพราะเด็กอยู่กน้าจอบมากขึ้น และVaccine ซึ่งขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างหาแนวทางจัดสรรวัคซีนให้กับนักเรียนในพื้นที่สีแดงเข้ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image