ตะลึง! ค้างค่าธรรมเนียม ร.ร.เอกชน หมื่นล้าน ส.ปส.กช.ชี้ทำขาดสภาพคล่อง

ตะลึง! ค้างค่าธรรมเนียมหมื่นล้าน ส.ปส.กช.ชี้ทำ ‘ร.ร.เอกชน’ ขาดสภาพคล่อง ร.ร.ใจปล้ำลดให้ผู้ปกครองอีก 2 พันล้าน

นายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ชี้แจงเรื่องการให้ความช่วยเหลือผู้ปกครอง และนักเรียน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ของโรงเรียนเอกชน ปีการศึกษา 2564 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับนายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) โดยหลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายให้สถานศึกษาในสังกัด ศธ.ลดหย่อยค่าธรรมเนียมการเรียน ค่าบำรุงการศึกษา และค่าบริการต่างๆ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ปกครอง สช.และสมาคมการศึกษาเอกชนทุกสมาคม ได้ขอความร่วมมือโรงเรียนเอกชนในการลด/ คืนค่าธรรมเนียมการศึกษา และค่าธรรมเนียมอื่นแล้ว

“รายการที่สถานศึกษาสามารถลด/ คืนให้ผู้ปกครองได้ทันที ได้แก่ ค่าสอนพิเศษ ค่าเข้าค่ายวิชาการ ค่าทัศนศึกษา ทั้งนี้ มีรายการที่โรงเรียนสามารถลดได้บางส่วน ได้แก่ ค่าอาหารกลางวัน แม้โรงเรียนไม่ได้ทำอาหาร แต่ยังต้องจ้างคนครัว และต้องดูแลรักษาอุปกรณ์เครื่องครัวต่างๆ ค่าไฟ ค่ารถรับส่งนักเรียน ค่าเรียนว่ายน้ำ ถึงจะไม่ได้ใช้ แต่ก็มีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา” นายศุภเสฏฐ์ กล่าว

นายศุภเสฏฐ์กล่าวต่อว่า ส่วนรายการที่ไม่สามารถลด/ คืนได้ คือเงินเดือนครูและบุคลากร ที่เป็นต้นทุนมากกว่า 75% ของโรงเรียน โดยเงินเดือนครูมาจากเงินอุดหนุนจากรัฐ และการเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าสมุดหนังสือ แม้จะเรียนออนไลน์ แต่นักเรียนยังได้รับสมุดหนังสือเหมือนเดิม ค่าสื่อการเรียนการสอน ถ้าจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ On Hand ยิ่งเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับครู และสถานศึกษา เพราะต้องซื้อกระดาษ และซื้ออุปกรณ์ เพื่อจัดการเรียนการสอนให้นักเรียน ค่าดูแลอาคารสถานที่ ที่โรงเรียนยังต้องจ้างแม่บ้าน และภารโรง เพื่อดูแลรักษาโรงเรียนด้วย

“อย่างไรก็ตาม โรงเรียนได้ช่วยเหลือผู้ปกครองไปบางส่วน เช่น แจกเครื่องแบบนักเรียน ชุดพละ อุปกรณ์การเรียน และแจกอุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยใช้งบประมาณของโรงเรียนเอง บางแห่งให้รับประทานอาหารกลางวันฟรี และบางแห่งสนับสนุนค่าอินเตอร์เน็ตให้นักเรียนด้วย” นายศุภเสฏฐ์ กล่าว

Advertisement

นายศุภเสฏฐ์กล่าวอีกว่า ส.ปส.กช.ได้เก็บรวบรวมข้อมูลโรงเรียนเอกชนประเภทที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐ ในโรงเรียน 2,251 แห่ง จาก 3,002 แห่ง พบข้อมูลดังนี้ ค่าธรรมเนียมการศึกษา และค่าธรรมเนียมอื่นที่เรียกเก็บปกติ แบ่งเป็น ค่าธรรมเนียมการศึกษา 3,908,597,500 บาท และค่าธรรมเนียมอื่น 15,226,689,508 บาท รวม 19,135,287,008 บาท ขณะนี้โรงเรียนเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษา และค่าธรรมเนียมอื่นไปแล้ว เฉลี่ย 38.37% แบ่งเป็น ค่าธรรมเนียมการศึกษา 1,499,728,860.75 บาท และค่าธรรมเนียมอื่น 5,842,480,764.22 บาท รวม 7,342,209,624.97 บาท

“พบผู้ปกครองค้างค่าธรรมเนียมการศึกษา และค่าธรรมเนียมอื่น เฉลี่ย 50.81% แบ่งเป็น ค่าธรรมเนียมการศึกษา 819,018,215.80 บาท และค่าธรรมเนียมอื่น 8,902,592,817.46 บาท รวม 9,721,611,033.26 บาท การที่ผู้ปกครองค้างจ่ายค่าธรรมเนียมการเรียน ส่งผลให้โรงเรียนเอกชนขาดสภาพคล่อง เกิดความระส่ำระส่าย เพราะไม่รู้ว่าจะบริหารจัดการอย่างไร อาจถึงขั้นต้องเลิกจ้างครูเพื่อรักษาสภาพคล่อง” นายศุภเสฏฐ์ กล่าว

นายศุภเสฏฐ์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ โรงเรียนได้ลดค่าธรรมเนียมการศึกษา และค่าธรรมเนียมอื่น เฉลี่ย 10.82% แบ่งเป็น ค่าธรรมเนียมการศึกษา 1,589,850,423.45 บาท และค่าธรรมเนียมอื่น 481,615,926.32 บาท รวม 2,071,466,349.77 บาท ทั้งนี้ โรงเรียนได้ช่วยเหลือให้ผู้ปกครอง โดยให้ผ่อนชำระค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่น โดยโรงเรียนจะไม่เก็บดอกเบี้ยทั้งปีการศึกษา 2564 ขอให้ผู้ปกครองไปหารือกับโรงเรียนเพื่อหาทางลดค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม เพราะโรงเรียนต้องการช่วยเหลือผู้ปกครองให้ได้มากที่สุด

Advertisement

“อยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือผู้ปกครองในด้านการศึกษา และเร่งเยียวยาโรงเรียนเอกชนด้วย เพราะโรงเรียนไม่มีรายได้อื่นเข้ามานอกจากการเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษา แม้ ศธ.ได้หารือกระทรวงการคลัง ให้โรงเรียนเอกชนกู้เงินในโครงการสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) แล้วก็ตาม แต่อยากให้ลดขั้นตอนการกู้ยืมด้วย เพื่อให้โรงเรียนได้รับเงินมาบริหารจัดการได้อย่างรวดเร็ว เพราะขณะนี้โรงเรียนเผชิญสถานการณ์ที่ไม่ปกติ อยากให้รัฐปรับเงื่อนไขกู้ยืมเงินให้เข้ากับสถานการณ์ด้วย” นายศุภเสฏฐ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image