ว.นวัตกรรมฯ แนะ 8 อาชีพใช้ทักษะด้านดิจิทัล มีรายได้สวนกระแสในยุค นิว นอมอล

ว.นวัตกรรมฯ แนะ 8 อาชีพใช้ทักษะด้านดิจิทัล มีรายได้สวนกระแสในยุค นิว นอมอล

ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (CITE DPU) เปิดเผยว่า สถานการณ์ Digital disruption และการระบาดของเชื้อโควิด-19 ก่อให้เกิดนิยาม new normal หรือการดำเนินชีวิตในรูปแบบปกติใหม่ ซึ่งเป็นที่แน่ชัดว่าความปกติใหม่นี้ มีความต้องการทักษะด้านดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น เช่น การใช้งานสื่อออนไลน์เพื่อการทำงานต่างๆ การทำงานจากระยะไกล การย้ายการประมวลผลไปใช้งานระบบคลาวด์มากขึ้น การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การใช้งานแอพพลิเคชั่นผ่านโทรศัพท์มือถืออย่างกว้างขวาง การป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ที่มีความสามารถทางด้านทักษะดิจิทัลที่มีความสามารถสูง เช่น วิศวกรคอมพิวเตอร์ โปรแกรมเมอร์ นักการตลาดดิจิทัล นักวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ เป็นต้น แทบจะไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว แต่กลับได้รับผลตอบแทนที่สูงมากขึ้นด้วย

ดร.ชัยพรกล่าวอีกว่า ข้อมูลจากเว็บไซต์ JobDB ระบุสายงานที่มีทักษะด้านไอที และด้านดิจิทัล มีรายได้อยู่ระหว่าง 20,000-100,000 บาท สำหรับนักศึกษาจบใหม่ โดยขึ้นอยู่กับคุณวุฒิ และความรู้ความสามารถของแต่ละบุคคล ทั้งยังเป็นทักษะแรงงานที่นายจ้างมีความต้องการมากขึ้นด้วย ดังนั้น อาชีพที่มีการใช้ทักษะทางดิจิทัล และคาดว่าเป็นแนวโน้มที่ควรจะวางแผนศึกษา หรือ reskill/ upskill กันไว้ เพื่อตอบรับกับความต้องการของตลาดแรงงานในยุค new normal ประกอบด้วย 8 สายงานอาชีพด้วยกัน ได้แก่ นักวิเคราะห์ตลาดออนไลน์, โปรแกรมเมอร์และวิศวกรซอฟต์แวร์, วิศวกรคอมพิวเตอร์, วิศวกรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์, นักวิเคราะห์ข้อมูลและวิศวกรข้อมูล, วิศวกรด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์, นักโลจิสติกส์ และผู้บริหารที่มีความสามารถทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

“วิทยาลัยนวัตกรรมฯ เข้าใจบริบทของการเปลี่ยนแปลง และความต้องการบุคลากรที่มีทักษะด้านดิจิทัลต่างๆ และเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในยุค new normal จึงจัดหลักสูตรต่างๆ ที่มีคุณภาพให้สอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศและวิทยาการข้อมูล วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ วิศวกรรมการจัดการและโลจิสติกส์ วิศวกรรมข้อมูลขนาดใหญ่ การจัดการทางเทคโนโลยีสารสนเทศ และการจัดการทางวิศวกรรม” ดร.ชัยพร กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image