‘ร.ร.เอกชน’ มีกำลังใจสู้ต่อ หลังรัฐช่วยค่าใช้จ่าย 2,000 บ./คน วอนรัฐช่วยนเทอม 2 ด้วย 

‘ตรีนุช’ ชง 4 มาตรการเสนอ ครม.ช่วย น.ร.-พ่อแม่ ใช้งบกว่า 2.16 ล้านบาท แจกตรงผู้ปกครองคนละ 2 พัน กว่า 10.8 ล้านคน อุดหนุนฝึกอาชีพอีก 2 พันบ./หัว ให้ ร.ร.เอกชน-นานาชาติ ลด-ตรึงค่าเล่าเรียน เข้า ครม. 21 ก.ค.นี้ ‘เอกชน’ เผยมีกำลังใจสู้ต่อ หลังรัฐช่วยค่าใช้จ่าย 2,000 บาทต่อคน วอนรัฐช่วยสนับสนุนเทอม 2 ด้วย 

จากกรณีที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิกา (ศธ.) เปิดเผยว่า ศธ.จะเสนอ 4 มาตรการ ช่วยผู้ปกครองลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แก่ มาตรการที่ 1 ช่วยค่าใช้จ่ายในการเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา ขั้นพื้นฐาน ทั้งสายสามัญ และสายอาชีพ ในสถานศึกษารัฐ และเอกชน ประมาณ 10.8 ล้านคน คนละ 2,000 บาท รวมเป็นเงิน 21,600 ล้านบาท โดยจ่ายตรงให้ผู้ปกครอง มาตรการที่ 2 ขอความร่วมมือโรงเรียนเอกชน และโรงเรียนนานาชาติ ที่ไม่รับเงินอุดหนุนจากรัฐ ช่วยลด และตรึงค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากผู้ปกครอง ให้เท่ากับปีการศึกษา 2563 และตั้งศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง

มาตรการที่ 3 ให้สถานศึกษาถัวจ่ายเงินที่ได้รับจัดสรรตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ใน 5 รายการ ได้แก่ ค่าเล่าเรียน หนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เพื่อใช้จัดการเรียนรู้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดในปีการศึกษา 2564 ได้ และจัดสรรค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมให้สถานศึกษาอีกส่วนหนึ่ง ลดการเรียนรู้จากสื่อออนไลน์โดยเฉพาะกลุ่มผู้เรียนชั้นอนุบาล – ป.3 ขณะเดียวกัน ศธ.จะจัดเช่าอุปกรณ์ พร้อมสัญญาณ จํานวน 200,000 ชุด ให้นักเรียน นักศึกษากลุ่มชั้น ป.4 – ม.6 และอาชีวศึกษา ใช้ยืมเรียน และมาตรการที่ 4 ช่วยเหลือผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างงาน โดยจัดฝึกอบรมด้านอาชีพฟรี รัฐสนับสนุนค่าใช้จ่าย ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน พร้อมประสานแหล่งทุนเพื่อจัดหาทุนเริ่มต้นประกอบอาชีพ โดยจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 27 กรกฎาคม นั้น

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) เปิดเผยว่า กรณี ศธ.ออกมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา ในวัยเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งสายสามัญศึกษา และสายอาชีพ ในสถานศึกษาของรัฐ และเอกชน ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน ถือเป็นการต่อลมหายใจของโรงเรียนเอกชนอย่างมาก เพราะโรงเรียนจะมีเงินไปรักษาสภาพคล่อง หลังจากได้ควักเนื้อของตัวเองคืน/ ลดค่าธรรมเนียมการศึกษา และค่าธรรมเนียมอื่น ให้กับผู้ปกครองไปก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อรัฐบาลช่วยสนับสนุน จะทำให้โรงเรียนเอกชนมีแรง มีกำลังใจที่จะเดินหน้าต่อ และมีกำลังการจ่ายเงินเดือนให้ครูเอกชนต่อไปได้

“ทั้งนี้ มีคำถามจากหลายฝ่ายตามมาเช่นกันว่า สถานศึกษารัฐ และเอกชน ได้รับงบอุดหนุนจากรัฐต่างกัน เพราะสถานศึกษารัฐได้รับงบอุดหนุน 100% จากรัฐบาล แต่สถานศึกษาเอกชน ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐเพียง 70-100% เท่านั้น ดังนั้น รัฐควรจะสนับสนุนให้สถานศึกษาเอกชนมากกว่า 2,000 บาทต่อคนหรือไม่นั้น มองว่าในสถานการณ์เช่นนี้ รัฐควรช่วยสนับสนุนอย่างเท่าเทียมกัน แต่ถ้ารัฐสามารถปรับอัตราเงินอุดหนุนรายหัวของโรงเรียนเอกชน ให้ทุกแห่งได้รับเงินอุดหนุน 100% ก็จะช่วยโรงเรียนอยู่รอดในช่วงนี้ได้” ดร.ศุภเสฏฐ์ กล่าว

Advertisement

ดร.ยศุภเสฏฐ์กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาดูว่ามาตรการที่รัฐขอความร่วมมือ ให้สถานศึกษาเอกชนลด หรือตรึงค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากผู้ปกครอง จะทำได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะโรงเรียนนานาชาติที่ยังคืนค่าธรรมเนียมให้ผู้ปกครองน้อยอยู่ แต่ในขณะที่โรงเรียนเอกชนที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐ คืนค่าธรรมเนียมให้ผู้ปกครองเกือบ 3 พันล้านบาทแล้ว

“ขณะนี้ ส.ปส.กช.อยู่ระหว่างเก็บตัวเลข และข้อมูลการลด/ คืนค่าธรรมเนียมการศึกษา และค่าธรรมเนียมอื่นของโรงเรียนเอกชน พร้อมกับประชุมหารือร่วมกับสมาคมโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ ว่าในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 จะดำเนินการช่วยเหลือผู้ปกครองอย่างไร เบื้องต้นเห็นตรงกันว่า โรงเรียนเอกชนจะเก็บค่าธรรมเนียมเท่าที่เก็บได้ และจะไม่เก็บค่าธรรมเนียมอื่นเพิ่มเติม แต่ต้องดูว่าจำนวนที่เก็บไป สามารถช่วยให้โรงเรียนเอกชนมีสภาพคล่อง อยู่รอดในอนาคตหรือไม่ ทั้งนี้ หวังว่ารัฐบาลจะช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายการเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษาในภาคเรียนที่ 2/2564 ด้วย เพื่อให้โรงเรียนเอกชนมีสภาพคล่อง และช่วยโรงเรียนที่ใกล้จะปิดกิจการให้มีกำลังใจในการสู้ต่อไป” ดร.ศุภเสฎฐ์ กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image