25 ร.ร.เอกชนที่ไม่รับอุดหนุนรัฐ ส่ง จ.ม.เปิดผนึกถึง ‘ครูเหน่ง’ หลังผู้ปกครองไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ 2 พันบ.

25 ร.ร.เอกชนที่ไม่รับอุดหนุนรัฐส่งจดหมายเปิดผนึกถึง ‘ครูเหน่ง’ หลังผู้ปกครองไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ 2,000 บาท จาก 4 มาตรการ ศธ.วอนรัฐบาล-ครม.ช่วยเหลือ เผยผู้ปกครอง ร.ร.เอกชนทุกระบบค้างชำระค่าธรรมเนียมปี’64 กว่า 1 หมื่นล้าน ลดให้ผู้ปกครองแล้ว 3 พันกว่าล้าน

จากกรณีที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เตรียมเสนอ 4 มาตรการช่วยผู้ปกครองลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แก่ มาตรการที่ 1 ช่วยค่าใช้จ่ายในการเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา ขั้นพื้นฐาน ทั้งสายสามัญและสายอาชีพ ในสถานศึกษารัฐและเอกชน ประมาณ 10.8 ล้านคน คนละ 2,000 บาท รวมเป็นเงิน 21,600 ล้านบาท โดยจ่ายตรงให้ผู้ปกครอง มาตรการที่ 2 ขอความร่วมมือโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนนานาชาติที่ไม่รับเงินอุดหนุนจากรัฐ ช่วยลดและตรึงค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากผู้ปกครอง ให้เท่ากับปีการศึกษา 2563 และตั้งศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง

มาตรการที่ 3 ให้สถานศึกษาถัวจ่ายเงินที่ได้รับจัดสรรตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ใน 5 รายการ ได้แก่ ค่าเล่าเรียน หนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เพื่อใช้จัดการเรียนรู้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดในปีการศึกษา 2564 ได้ และจัดสรรค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมให้สถานศึกษาอีกส่วนหนึ่ง ลดการเรียนรู้จากสื่อออนไลน์โดยเฉพาะกลุ่มผู้เรียนชั้นอนุบาล-ป.3 ขณะเดียวกัน ศธ.จะจัดเช่าอุปกรณ์ พร้อมสัญญาณ จํานวน 200,000 ชุด ให้นักเรียน นักศึกษากลุ่มชั้น ป.4-ม.6 และอาชีวศึกษา ใช้ยืมเรียน และมาตรการที่ 4 ช่วยเหลือผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างงาน โดยจัดฝึกอบรมด้านอาชีพฟรี รัฐสนับสนุนค่าใช้จ่าย ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน พร้อมประสานแหล่งทุนเพื่อจัดหาทุนเริ่มต้นประกอบอาชีพ โดยจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 27 กรกฎาคมนั้น

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม นางวัลลา สันติภาดา ตัวแทนโรงเรียนเอกชนที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ เปิดเผยว่า จากมาตรการที่รัฐออกมาช่วยเหลือ โดยเฉพาะมาตรการที่ 1 ที่ช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษา ขั้นพื้นฐาน ทั้งสายสามัญศึกษาและสายอาชีพ ในสถานศึกษารัฐและเอกชน ประมาณ 10.8 ล้านคน คนละ 2,000 บาทนั้น พบว่า รัฐบาลช่วยเฉพาะโรงเรียนรัฐและเอกชนที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐเท่านั้น แต่โรงเรียนเอกชนที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ เช่น โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนเอกชนประเภทสามัญในระบบ และโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญที่เปิดหลักสูตร English Program (EP) จะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐในครั้งนี้

“ดิฉันรวบรวมตัวแทนโรงเรียนเอกชนที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ 25 ราย เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ขออุทธรณ์กรณีการพิจารณาเงินช่วยเหลือผู้ปกครองในสถานการณ์โควิด-19 ของ ศธ.ตามข้อเสนอมาตรการที่ 1 ซึ่งได้ยื่นจดหมายฉบับดังกล่าวให้ น.ส.ตรีนุช เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา” นางวัลลากล่าว

Advertisement

นางวัลลากล่าวต่อว่า ในจดหมายระบุว่า กลุ่มโรงเรียนเอกชนที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนรายหัวใดๆ จากภาครัฐเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก แต่เน้นการพัฒนาเด็กอย่างมีคุณภาพ ตลอดเวลาที่ผ่านมาในสถานการณ์ปกติ ผู้ปกครองสามารถช่วยเหลือตนเอง โดยไม่เคยเป็นภาระใดๆ กับภาครัฐ กระทั่งในสถานการณ์โควิด-19 ที่ยาวนาน นับแต่ปลายปี 2562 และไม่ทราบว่าจะยาวนานไปถึงเมื่อไหร่ ได้สร้างความเสียหาย บอบช้ำให้กับผู้คน และธุรกิจ รวมถึงผู้ปกครอง ที่ผ่านมากลุ่มโรงเรียนเอกชนที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนรายหัวได้แบ่งเบาภาระของภาครัฐ ไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ แต่จากสถานการณ์ครั้งนี้ส่งผลกระทบรุนแรงมาก

“เมื่อทราบว่ารัฐช่วยเหลือผู้ปกครอง นักเรียนที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐเท่านั้น ส่วนโรงเรียนประเภทอื่นที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนรายหัวซึ่งอาจตกสำรวจ ด้วยเหตุที่เป็นโรงเรียนเอกชนขนาดเล็ก ไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคมใด และเรามีผู้ปกครองและนักเรียนที่ประสบภาวะลำบากไม่ต่างกับผู้ปกครองโรงเรียนที่รับเงินอุดหนุน แม้โรงเรียนจะช่วยเหลือไประดับหนึ่งแล้วก็ตาม ซึ่งเงิน 2,000 บาทนี้ อาจไม่ใช่เงินจำนวนมาก แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ย่อมมีความหมายต่อทุกคน รวมถึงความยุติธรรม และความเสมอภาคด้วย” นางวัลลากล่าว

นางวัลลากล่าวต่อว่า ในฐานะของกลุ่มโรงเรียนที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุน 25 แห่ง ประกอบด้วย โรงเรียนประเภทสามัญในระบบ โรงเรียนสามัญในระบบประเภท EP และโรงเรียนนานาชาติ มีนักเรียนรวม 5,003 คน ซึ่งในสถานการณ์ปกติ ได้แบ่งเบาภาระของรัฐเฉลี่ยปีการศึกษาละ 73,544,100 บาท ขอให้รัฐพิจารณาช่วยเหลือผู้ปกครองกลุ่มนี้เพียง 10,006,000 บาท โดยส่งตรงถึงผู้ปกครองคนละ 2,000 บาท เช่นเดียวกับโครงการอื่นๆ ของรัฐ จึงขอความอนุเคราะห์จากรัฐมนตรีว่าการ ศธ.และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ช่วยเหลือด้วย

Advertisement

นางวัลภากล่าวอีกว่า นอกจากนี้ โรงเรียนทั้ง 25 แห่งได้รวบรวมรายละเอียดการช่วยเหลือค่าธรรมเนียมการศึกษา ภาคเรียนที่ 1/2564 ดังนี้ ค่าธรรมเนียมการศึกษา 1/2564 คาดว่าจะได้รับ 261,346,300 บาท ได้รับจริง 175,557,978 บาท ค้างชำระ 85,806,322 บาท ค่าธรรมเนียมการศึกษา ปีการศึกษา 2563 ค้างชำระ 8,279,600 บาท ค่าใช้จ่ายที่ได้คืนให้ผู้ปกครองตั้งแต่ปี 2563-2564 จำนวน 32,771,014 บาท

“อย่างไรก็ตาม โรงเรียนที่ยื่นอุทธรณ์ทั้ง 25 แห่ง มีมาตรการช่วยเหลือผู้ปกครองด้วย เช่น ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนไม่ปรับค่าธรรมเนียมการศึกษาทุกกรณี ภาคเรียนที่ 1/2564 เก็บค่าธรรมเนียมอื่นมาแล้วแต่ไม่สามารถให้บริการได้ ก็ยินดีคืน ผู้ปกครองสามารถผ่อนผันชำระค่าธรรมเนียมการศึกษาได้ เป็นต้น” นางวัลภากล่าว

ด้าน ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) กล่าวว่า ส.ปส.กช.ได้รวบรวมข้อมูลการเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษา และค่าธรรมเนียมอื่นของโรงเรียนเอกชนที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ จำนวน 2,474 แห่ง จากข้อมูล ณ วันที่ 22 กรกฎาคม ดังนี้ ค่าธรรมเนียมการศึกษา และค่าธรรมเนียมอื่นที่เก็บปกติ แบ่งเป็น ค่าธรรมเนียมการศึกษา 4,295,810,846 บาท ค่าธรรมเนียมอื่น 16,735,153,196 บาท รวม 21,030,964,042 บาท เก็บได้เฉลี่ย 36% แบ่งเป็น ค่าธรรมเนียมการศึกษา 1,548,302,622 บาท ค่าธรรมเนียมอื่น 6,021,278,281 บาท รวม 7,569,580,903 บาท

“ยอดค้างค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่น ปีการศึกษา 2564 เฉลี่ย 48.43% แบ่งเป็น ค่าธรรมเนียมการศึกษา 839,155,960 บาท ค่าธรรมเนียมอื่น 9,345,546,704 บาท รวม 10,184,702,644 บาท ส่วนลดค่าธรรมเนียมการศึกษา และค่าธรรมเนียมอื่น ปีการศึกษา 2564 เฉลี่ย 15.57% แบ่งเป็น ค่าธรรมเนียมอื่น 1,908,352,264 บาท ค่าธรรมเนียมอื่น 1,368,328,211 บาท รวม 3,276,680,475 บาท” ดร.ศุภเสฏฐ์กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image