‘ตรีนุช’ คาดโอนเงินเยียวยาผู้ปกครอง 2 พันบาท ปลาย ส.ค.นี้

แฟ้มภาพ

‘ตรีนุช’ คาดโอนเงินเยียวยาผู้ปกครอง 2 พันบาท ปลาย ส.ค.นี้ เดินหน้าลดภาระครู-น.ร.ช่วงโควิด

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ของโรงเรียนในสังกัด ศธ.และสังกัดอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษา ที่กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาสังกัด ศธ.ทั้งภาครัฐ และเอกชน ที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ และไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ และสถานศึกษานอกสังกัด ศธ.ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ชั้นอนุบาล-ม.6 และอาชีวศึกษา ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน โดยจ่ายผ่านสถานศึกษา และให้สถานศึกษาจ่ายตรงให้นักเรียน นักศึกษา หรือผู้ปกครอง 11 ล้านคน วงเงิน 21,600 ล้านบาท ว่า สำนักงบประมาณอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดเพื่อทำการจัดสรรเงินให้ ศธ.ซึ่งมอบหมายให้นายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ.ไปดำเนินการเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด

น.ส.ตรีนุชกล่าวอีกว่า หากสำนักงานงบประมาณจัดทำรายละเอียด และจัดสรรเงินมาให้ ศธ.แล้ว จากนั้น ศธ.จะตรวจสอบข้อมูล เพื่อจัดสรรเงินงบลงไปที่สถานศึกษาต่อไป คาดว่าภายในวันที่ 31 สิงหาคม ถึงต้นเดือนกันยายน สถานศึกษาจะได้รับเงิน และโอนเงินเยียวยา 2,000 บาท ให้นักเรียน และผู้ปกครอง

“ส่วนการจ่ายเงินนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับมาว่า ศธ.ต้องเร่งดำเนินการเพื่อลดความเดือดร้อนของนักเรียน และผู้ปกครองให้เร็วที่สุด ดังนั้น การจ่ายเงินจะต้องรวดเร็วด้วย ซึ่ง ศธ.ได้คิดหาวิธีการที่จัดส่งเงินให้รวดเร็วที่สุด โดยพบว่าหากจ่ายเงินตามฐานข้อมูลการจ่ายเงินอุดหนุนรายหัวของนักเรียนที่ ศธ.มีข้อมูลอยู่ จะสามารถนำส่งเงินให้สถานศึกษาได้เร็วที่สุด” น.ส.ตรีนุชกล่าว

น.ส.ตรีนุชกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดทำแนวทางลดภาระครู และนักเรียน เพื่อลดภาระครู และนักเรียนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เบื้องต้น จะลดเวลาการทำงานของครู ปรับลดโครงการต่างๆ ให้ครูปฏิบัติให้เหลือเพียง 1% จากเดิมที่ สพฐ.มีโครงการให้ครู และโรงเรียนปฏิบัติหลายร้อยโครงการ หรือการนับเวลาเรียนรูปแบบใหม่ ที่เดิมจะนับเวลาเรียน จากการเรียนในห้องเรียนเท่านั้น แต่ขณะนี้การเรียนการสอนเปลี่ยนไปหลายรูปแบบ เช่น ออนไลน์ ออนแอร์ เป็นต้น ดังนั้น การนับเวลาเรียนต้องเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงด้วย

Advertisement

“นอกจากนี้ จะปรับเปลี่ยนการใช้งบต่างๆ โดยเฉพาะงบอุดหนุนรายหัวในบางรายการที่เดิมกำหนดไว้ชัดเจนว่าจะต้องใช้จ่ายเรื่องนี้เท่านั้น เช่น งบหนังสือ จะต้องซื้อหนังสือเท่านั้น ต้องปรับให้ยืดหยุ่น เพื่อให้สถานศึกษานำไปลดภาระครูต่อไป การปรับงบบางรายการต้องขออนุมัติจาก ครม.ซึ่ง ศธ.จะเร่งเสนอ ครม.พิจารณาโดยเร็ว ส่วนงบไหนที่ ศธ.ปรับแก้ระเบียบกันเองได้ จะเร่งเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) พิจารณาให้ความเห็นชอบโดยเร็ว เพื่อให้ครูมีความยืดหยุ่นในการทำงาน และพัฒนาการเรียนการสอนได้โดยเร็ว” น.ส.ตรีนุชกล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image