คุณหญิงกัลยา-บิ๊ก สพฐ.ค้านหยุดเรียนออนไลน์ 1 ปี แค่หนีปัญหา ต้องปรับวิธีสอน ตัวชี้วัดใหม่

คุณหญิงกัลยา-ผู้บริหาร สพฐ.ยอมรับเรียนออนไลน์มีปัญหา แต่หยุดเรียน 1 ปี ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา แค่หนีปัญหา แนะต้องปรับวิธีการเรียนการสอน ตัวชี้วัดใหม่ 

จากกรณีที่ น.ท.สุมิตร สุวรรณ รองคณบดีคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) วิทยาเขตกำแพงแสน เสนอให้หยุดการเรียนการสอนทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปี เนื่องจากการเรียนออนไลน์ไร้ประสิทธิภาพ และส่งผลกระทบกับนักเรียน นักศึกษา โดยเฉพาะเด็กปฐมวัย และนักเรียนชั้นประถมอย่างมาก ขณะที่นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการศึกษา เปิดเผยผลวิจัยชี้เด็กไทยเครียดจากการเรียนออนไลน์ ทำให้โดดเรียนออนไลน์มากกว่า 20% ขณะที่ผลสำรวจทั่วโลกระบุว่าการเรียนออนไลน์ 1 ปี ทำให้การศึกษาถดถอย 50% โดยเสนอให้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องกล้าตัดสินใจ และเลิกกลัวเกินกว่าเหตุนั้น

เมื่อวันที่ 9  สิงหาคม คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.กล่าวว่า คงเป็นไปไม่ได้หากจะให้นักเรียนหยุดเรียน 1 ปี เพราะจะมีผลเสียมากกว่าผลดี ซึ่ง ศธ.ไม่ได้นิ่งนอนใจ พัฒนาการเรียนการสอนออนไลน์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทางสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้จัดทำโครงการสอนออนไลน์ Project 14 โดยรวบรวมบทเรียนออนไลน์ ตั้งแต่ชั้น ป.1- ม.6 ขึ้นมา เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ได้จากทุกที่ทุกเวลา โดยผู้เรียนสามารถกำหนดการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง การเรียนรู้จะไม่ได้จำกัดแค่ในห้องเรียน โดยมีแอนิเมชั่นประกอบ เพื่อช่วยให้ผู้เรียน รู้สึกสนุก จดจำง่าย และเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น โดยเน้นความเข้าใจเชื่อมโยงกับชีวิตจริง มีเนื้อหาตรงตามหลักสูตรแกนกลาง และหนังสือเรียนของ สสวท.

“ครูสามารถนำบทเรียนนี้ไปประกอบการสอนได้เลย ช่วยทำให้เปลี่ยนแปลงการเรียนรู้จากยากให้ง่ายขึ้น มีความสนุก มีความยืดหยุ่น และมีประสิทธิภาพ โดยขณะนี้ สสวท.ได้จัดทำสื่อการสอนออนไลน์ไปมากกว่า 2,000 ชุดแล้ว” คุณหญิงกัลยา กล่าว

ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ รักษาการประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า กรณีนักวิชาการเสนอให้หยุดเรียน 1 ปี เพราะการเรียนผ่านระบบออนไลน์ต่อเนื่องอย่างน้อย 1-2 ปี อาจจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาของประเทศนั้น ไม่เชื่อว่านักเรียนจะเรียนออนไลน์ต่ออีก 2 ปี มองว่าการเรียนออนไลน์จะสิ้นสุดภายในสิ้นปี 2564 เพราะรัฐบาลได้วางแผนไว้ว่าจะเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้มากที่สุดภายในสิ้นปี 2564

Advertisement

ดร.เอกชัยกล่าวอีกว่า ในอนาคตเชื่อว่าแม้เชื้อโควิด-19 จะหายไป หรือครู และนักเรียน จะได้รับวัคซีนจนสามารถกลับมาสอนในห้องเรียนตามปกติได้แล้ว แต่การเรียนการสอนในบางวิชา อาจเปลี่ยนรูปแบบแล้ว และเชื่อว่าการเรียนในอนาคต เด็กอาจจะไม่ต้องลงทะเบียนเรียนเป็นนักเรียนก็ได้ แต่สามารถเรียนออนไลน์จากใครก็ได้ และเมื่อถึงเวลาทดสอบเลื่อนระดับชั้น ก็ขอยื่นเข้ารับการทดสอบกับโรงเรียนไหนก็ได้ โดยแต่ละโรงเรียนต้องมีแบบทดสอบวัดระดับชั้นที่เชื่อถือได้ เมื่อนักเรียนผ่านการทดสอบ โรงเรียนจะออกเอกสารรับรองให้ โดยจะระบุว่านักเรียนมีความรู้เทียบเท่ากับระดับชั้นอะไร

“ผมมองว่าในอนาคต การเรียนการสอนจะเปลี่ยนเป็นรูปแบบนี้มากขึ้น คือไม่จำเป็นต้องเข้าเรียนในโรงเรียน ก็สามารถจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือจบการศึกษาระดับชั้นอื่นๆ โดยผ่านการเรียนการสอนออนไลน์ และการเรียนรู้ด้วยตนเอง” ดร.เอกชัย กล่าว

ดร.เอกชัยกล่าวต่อว่า ไม่เห็นด้วยกับหยุดเรียนทั่วประเทศ และในฐานะนักบริหารการศึกษา ต้องสามารถใช้ปัญหาที่มี สร้างโอกาสใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ใช่เกิดปัญหาแล้วจะหนีปัญหา หรือหยุดปัญหา เพราะทุกปัญหาคือโอกาสในการเรียนรู้ และพัฒนาทั้งสิ้น ควรใช้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สร้างลักษณะนิสัยในการนำตนเองในการเรียนรู้ของเด็ก (SDL) สำหรับเด็กกลุ่มหนึ่งที่สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างดีในยุคดิจิทัลนี้ ส่วนครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา จะต้องเรียนรู้ ปรับตัวการทำงานในยุคชีวิตวิถีใหม่ ของการจัดการศึกษา ถ้าคิดจะหยุดอยู่กับที่แล้วรอเปิดสอนตามปกติ ก็หมดยุคแล้ว

Advertisement

“ทำไมไม่คิดว่าเรียนออนไลน์ให้มีคุณภาพทำได้หรือไม่ ถ้าทำไม่ได้ เพราะอะไร จะแก้ได้อย่างไร ถ้าบอกแก้ไม่ได้ เพราะอะไร ถ้าจะแก้ให้ได้ ต้องทำอย่างไร ไม่ใช่เจอปัญหา ก็เสนอว่าหยุดเรียน 1 ปี นักบริหาร นักวิชาการ คิดแบบนี้ได้อย่างไร ส่วนวิชาที่เป็นทักษะปฏิบัติ อาจมีปัญหาบ้าง แต่ไม่ใช่แก้ไม่ได้ แล้วให้หยุดเรียน ทำไมไม่ปรับลำดับเนื้อหาให้เรียนออนไลน์ในส่วนที่เป็นทฤษฎีไปก่อน แล้วเมื่อเรียนในห้องเรียนได้ ก็มาปฏิบัติอย่างเดียว หรือถ้าจำเป็น ก็ให้แบ่งนักเรียนมาฝึกภาคปฏิบัติ มองว่าการเปิดสอนออนไลน์ ควรดำเนินการต่อไป ไม่ควรหยุดเรียน แต่ต้องเปลี่ยนเป้าหมายหลัก คือเป็นการเตรียมเด็กให้ปรับตัวพร้อมเข้าสู่ยุคการเรียนรู้ที่ไร้ขีดจำกัด มีเป้าหมายรองคือคุณภาพการศึกษา ไม่ใช่เน้นคุณภาพการศึกษาเป็นหลัก ตัวชี้วัดแบบเดิมๆ” ดร.เอกชัย กล่าว

ดร.เอกชัยกล่าวต่อว่า ปัญหาการเรียนออนไลน์ที่พบ ควรนำมาวิเคราะห์สาเหตุหลักๆ ว่ามาจากอะไรบ้าง เช่น อาชีพผู้ปกครอง อุปกรณ์และการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ เวลาที่เรียน วัยของผู้เรียน ระดับชั้นที่เรียน เนื้อหาที่ให้เรียน วิธีสอนของครู การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ เป็นต้น แล้วนำสาเหตุเหล่านี้มาหาแนวทางแก้ปัญหา ไม่ใช่หนีปัญหาด้วยการหยุดเรียน ซึ่งเป็นการสร้างปัญหามากกว่า ตนคิดว่าควรหยุดคิดแทนเด็กได้แล้ว การเรียนออนไลน์ไม่ได้สร้างปัญหาทุกคน แต่อาจเกิดปัญหาบางกลุ่ม บางระดับ บางอาชีพผู้ปกครอง ควรโอกาสนี้สร้างความเข้าใจทางการเรียนการสอนใหม่ในยุคดิจิทัลให้ผู้ปกครองและนักเรียน

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ.กล่าวว่า การเรียนออนไลน์มีทั้งมุมบวก และลบ แต่การให้เด็กหยุดเรียนไปเลย อาจกระทบกับการจัดการศึกษาในภาพรวม และมีข้อเสียมากกว่าข้อดี อย่างไรก็ตาม ยอมรับการเรียนออนไลน์มีปัญหาอยู่บ้าง เพราะปรับเปลี่ยนจากการเรียนในห้องเรียน มาเป็นการเรียนที่บ้าน ในช่วงสถานการณ์ไม่ปกติ ซึ่งผู้ที่จะเข้ามาดูเป็นหลักในการเรียนการสอนของเด็ก นอกจากครูแล้ว ก็คือผู้ปกครองที่ต้องปรับตัว รวมถึง นักเรียน ที่ต้องช่วยเหลือตัวเองให้มากขึ้น

“สพฐ.เองเตรียมความพร้อม และมาตรการช่วยเหลือไว้หลายแนวทาง แม้จะยังมีปัญหาอยู่บ้าง ก็ต้องปรับแก้ให้เข้ากับสถานการณ์ และสอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ ส่วนการให้เด็กหยุดเรียนไปเลยนั้น คงไม่ใช้ทางออกที่ดีอย่างแน่นอน” ดร.อัมพร กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image