ซัดร่าง กม.การศึกษาใหม่อิงการเมือง ไม่กล้าแตะ ‘โครงสร้าง-ระบบ’ เจ้าปัญหา ปมกลัว ขรก.ต้าน

ซัดร่าง กม.การศึกษาใหม่อิงการเมือง ไม่กล้าแตะ ‘โครงสร้าง-ระบบ’ เจ้าปัญหา ปมกลัว ขรก.ต้าน-เน้นตั้งหน่วยงานใหม่

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เปิดเผยว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ฉบับใหม่ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ไม่ได้ช่วยทำให้เกิดการปฏิบรูปการศึกษา เพราะท้ายสุดได้หน่วยงานใหม่เพิ่มเท่านั้น คือเปลี่ยนสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เป็นสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ ตั้งคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ที่สำคัญในพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ กำหนดไว้ชัดเจนว่าห้ามมิให้แตะเรื่องโครงสร้าง และระบบของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยให้แตะให้น้อยที่สุด เพราะกลัวจะมีผลกระทบกับข้าราชการส่วนใหญ่ และกลัวข้าราชการต่อต้าน

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวต่อว่า มองว่าโครงสร้าง และระบบที่มีอยู่ คือปัญหาใหญ่ และเป็นปัญหาหลักของการปฏิรูปการศึกษาไทย โครงสร้าง และระบบของ ศธ.ที่ผ่านมา ทั้งเรื่องวิทยาฐานะ มาตรฐานต่างๆ การวัดผลและประเมินผล ระบบเหล่านี้กินงบประมาณของ ศธ.ไป 70-80% ที่ผ่านมาข้าราชการได้รับผลประโยชน์จากโครงสร้าง และระบบเดิมไปมากเท่าไหร่แล้ว เคยคิดถึงเด็กในประเทศกว่า 10 ล้านคนหรือไม่ ว่าเด็กจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง โรงเรียนในชนบทมีสภาพเป็นอย่างไร เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวที่ไม่เคยเพิ่มขึ้นมาเป็นเวลานาน จะส่งผลอย่างไรกับเด็ก และคุณภาพการศึกษาบ้าง สิ่งเหล่านี้เด็กไม่สามารถออกมาส่งเสียง หรือสะท้อนปัญหาได้เลย

“ผมมองว่าการปฏิรูปการศึกษา ควรปรับเปลี่ยนทั้งโครงสร้าง ระบบ กฎหมาย หลักสูตร และคุณภาพครู ถ้าเปลี่ยนทั้งหมดถึงจะถปฏิรูปการศึกษาได้จริง แต่เมื่อมาดู พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ จะเห็นว่ากฎหมายนี้ไม่แตะเรื่องโครงสร้าง และระบบเลย แตะแค่หลักสูตรเพียงเรื่องเดียว เพราะการตั้งสถาบันหลักสูตร ไม่ส่งผลกระทบ หรือไม่สร้างผลเสียกับข้าราชการ และอีกสาเหตุที่ไม่แตะโครงสร้าง และระบบของ ศธ.เพราะมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกลัวครูต่อต้าน ไม่เห็นด้วย แต่ในความจริง การปฏิบัติรูปการศึกษา หรือการปฏิบัติรูปเรื่องอื่นๆ มีทั้งคนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยทั้งนั้น ดังนั้น ต้องกล้าตัดสินใจโดยมุ่งประโยชน์ของเด็กเป็นหลัก ไม่ใช่กลัวข้าราชการลุกขึ้นมาต่อต้านเท่านั้น” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ จะพบว่าคนในวงการศึกษาต่อต้านเรียกร้องแต่เรื่องเล็กน้อย เช่น มุ่งเปลี่ยนคำเรียกจาก “หัวหน้าสถานศึกษา” เป็น “ผู้บริหารสถานศึกษา” และแก้คำว่า “ผู้ช่วยหัวหน้าสถานศึกษา” เป็น “ผู้ช่วยผู้บริหารสถานศึกษา” เป็นต้น แต่ภาพรวมของระบบการศึกษา คนในวงการศึกษากลับไม่ออกมาสะท้อน ไม่วิพากษ์วิจารณ์เลย มุ่งแต่ปกป้องผลประโยชน์ของตนเท่านั้น

Advertisement

“ผมมองว่าถ้า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่เกิดขึ้น จะไม่เปลี่ยน หรือปฏิบรูปการศึกษาเลย นอกจากจะมีสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้เท่านั้น มองว่า น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ยังเข้าใจบริบทการศึกษาน้อยเกินไป และรับฟังข้าราชการมากเกินไป น.ส.ตรีนุช ควรจะศึกษาบทเรียนจากการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมา ว่าเป็นอย่างไรบ้าง เพราะการปฏิรูปการศึกษาในแต่ละครั้ง ระบบการศึกษาใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เพราะมุ่งแต่จะเพิ่มหน่วยงาน เพิ่มงบ แต่การพัฒนา หรืองบ กลับไม่ลงไปสู่ตัวเด็กทั้งประเทศ” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image